ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลฮ่องกงเตือนสหรัฐฯ ว่าการเพิกถอนสถานะพิเศษของฮ่องกงภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ อาจเป็นดาบสองคม พร้อมเรียกร้องสหรัฐฯ เลิกแทรกแซงกิจการภายใน

ถ้อยแถลงนี้ของรัฐบาลฮ่องกงมีขึ้นเมื่อช่วงดึกของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในขณะที่คาดว่าประธานาธิบดี 'โดนัลด์ ทรัมป์' จะประกาศมาตรการตอบโต้สภาจีนที่ผ่านกฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักกิจกรรมและชาติตะวันตกกังวลว่าจะทำลายเสรีภาพของฮ่องกง โดยรัฐบาลฮ่องกงระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรใดๆ ก็ตามจะเป็นดาบสองคม ที่ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสหรัฐฯ ด้วย

พร้อมระบุว่านับตั้งแต่ปี 2552-2561 ยอดการค้าของสหรัฐฯ กับฮ่องกงเกินดุลสูงมา และถือว่ามากที่สุดในหมู่คู่ค้าทั้งหมด โดยอยู่ที่ 297,000 ล้านดอลลาร์ และมีบริษัทสหรัฐฯ 1,300 แห่งที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง 

รัฐบาลจีนระบุว่า กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่มีไว้เพื่อจัดการกับการแบ่งแยกดินแดน บ่อนทำลาย ก่อการร้ายและการแทรกแซงของต่างชาติในฮ่องกง โดยกฎหมายนี้จะเปิดทางให้จีนตั้งหน่วยงานข่าวกรองในฮ่องกงอีกด้วย ซึ่งความพยายามผลักดันกฎหมายนี้ได้ส่งผลให้เกิดการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยเมื่อวานนี้ว่าอาจไม่รับรองได้อีกต่อไปว่าฮ่องกงจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากจีนในเรื่องการค้าและประเด็นการเงินอื่นๆ 

ส่วนในถ้อยแถลงอีกฉบับในวันนี้ที่ถูกเผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับ 'แคร์รี หล่ำ' ผู้บริหารสูงสุดเกาะฮ่องกงได้เรียกร้องชาวฮ่องกงร่วมมือกัน "ไล่ตามความฝันเราไปพร้อมกับพักเรื่องความแตกต่างเอาไว้" โดยบอกว่ากฎหมายความมั่นคงดังกล่าวมีความจำเป็น เนื่องจากมีภัยคุกคามก่อการร้ายและองค์กรที่สนับสนุนความเป็นอิสระและการตัดสินใจในการปกครองตนเอง ซึ่งได้ท้าทายรัฐบาลจีนและรัฐบาลท้องถิ่นรวมถึงขอให้มีการแทรกแซงจากต่างชาติ 

ทั้งนี้ ในการเคลื่อนไหวประท้วงฮ่องกงเมื่อปีที่แล้วมี 5 ข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุม ที่รวมถึงสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปและการสอบสวนอย่างอิสระต่อการจัดการม็อบของตำรวจ แต่ไม่มีข้อเรียกร้องเรื่องเอกราช มีผู้ประท้วงเพียงส่วนน้อยที่โบกธงเอกราชฮ่องกง ขณะที่การออกกฎหมายความมั่นคงและร่างกฎหมายห้ามดูหมิ่นเพลงชาติจีน ถูกผู้ประท้วงมองว่าเป็นความพยายามล่าสุดของรัฐบาลจีนในการกระชับอำนาจควบคุมฮ่องกง  

การออกกฎหมายความมั่นคง ซึ่งคาดว่าจะถูกประกาศใช้ก่อนเดือนก.ย. ยังถูกประณามจากอังกฤษ ออสเตรเลียและแคนาดารวมถึงสหรัฐฯ ที่ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้จีนเคารพปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ ซึ่งเป็นข้อตกลงในการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีน โดยชี้ว่ากฎหมายความมั่นคงนี้อาจบ่อนทำลายกรอบการดำเนินงานตามหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" พร้อมเรียกร้องจีนทำงานร่วมกับรัฐบาลและประชาชนในฮ่องกง ในการหาข้อตกลงที่ยอมรับได้ร่วมกันที่จะเป็นการเคารพต่อพันธกรณีที่จีนมีต่อนานาชาติภายใต้ปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ แต่แถลงการณ์นี้ไม่ได้ระบุว่าจะดำเนินการอย่างไรหากจีนไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง

อ้างอิง CNA / SCMP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :