วันที่ 12 ก.ค. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ย่านบางกอกน้อย สำรวจแนวทางการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย ในพื้นที่ตลาดพรานนก พร้อมวิ่งตรวจความเรียบร้อยของโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดสามแยกไฟฉาย
ชัชชาติ กล่าวว่า ทาง กทม. มีจุดที่ผ่อนผันทั้งหมดตอนนี้ 31 จุด แต่เนื่องจากทาง กทม.ยกเลิกจุดผ่อนผันหลายจุด ซึ่งสุดท้ายแล้ว วิถีชีวิตผู้มีรายได้น้อยจำเป็นต้องมีแหล่งซื้ออาหารที่ราคาไม่แพงหรือแหล่งค้าขายที่ประทังชีวิตได้ จากการคุยกับผู้ค้าตั้งแต่ช่วงเช้าพบว่า เกือบทั้งหมด หรือ กว่า 99% ยังคงดำเนินอยู่เพราะเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่ปัญหาคือความเป็นระเบียบและทางเดินของผู้มาซื้อสินค้า ดังนั้น จึงต้องมีข้อกำหนดอย่างชัดเจน อย่างข้อกำหนดเดิมที่ระบุว่าถ้า ถนน 4 เลนต้องมีทางเดินกว้าง 2 เมตร มีระยะหาบเร่ กว้าง 1 เมตรซึ่งต้องมีการตีเส้นให้ชัดเจน
สิ่งที่เห็นพบว่าฝั่งที่ตีเส้นถือว่าไม่ล้ำเส้นออกมา แต่ฝั่งร้านค้าพื้นที่เอกชนยังมีการรุกล้ำอยู่บ้าง ซึ่งผู้ค้าอาจจะอ้างว่าอยู่ในพื้นที่เอกชน แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าพื้นที่เอกชนจะกำหนดให้อยู่ได้ถึงจุดไหน ดังนั้น กทม.ต้องขอความร่วมมือ ที่สำคัญที่สุดคือต้องให้คนเดินเท้าสามารถเดินได้ และจัดตั้งคณะกรรมการรายจุดที่ประกอบด้วย ผู้ค้า คนเดินเท้า คนในชุมชน ร่วมกันเพื่อหารือหาทางดูแลร่วมกัน เพราะถ้าไม่เรียบร้อยต้องยกเลิก เป็นหลักการกระจายอำนาจ เพราะถ้าให้เทศกิจดูแลจะไม่จบ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดูแลตลอด
ทั้งนี้ เทศกิจไม่ต้องไล่จับปรับเพราะให้ประชาชนดูแลรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าทำให้ดีไม่ได้ก็ยกเลิกจุดขาย ส่วนวันหยุดประจำสัปดาห์จะต้องหยุดวันใด เพื่อทำความสะอาดพื้นที่ ปัญหาที่ผ่านมามีการหยุดแต่ไม่ทำความสะอาด ฉะนั้นต้องกลับมาเอาจริงเอาจัง ส่วนจะหยุดวันไหนต้องแล้วแต่พื้นที่ ตามความเหมาะสม และความสะดวกของผู้ค้า แต่อย่างไรก็ต้องหยุดเพื่อทำความสะอาด จัดระเบียบให้เรียบร้อย
สิ่งที่กังวลคือเรื่องร่มของผู้ค้าที่ดูรกรุงรัง อาจจะต้องประสานกับเอกชนที่ต้องการทำกิจกรรม CSR ทำพื้นที่ให้สวยงาม เช่น เขตอารีย์ ที่มีธนาคารออมสินให้ร่มผู้ค้าเป็นแบบเดียวกัน กทม.จะพยายามใช้วิธีนี้กับพื้นที่อื่น เพื่อให้มีความสะดวก เอื้อต่อในพื้นที่ตามความเหมาะสม
ชัชชาติ ย้ำว่า เทศกิจต้องชัดเจนในการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ค่าปรับ ค่าบำรุงรักษา และต้องไม่เลือกปฏิบัติ ที่ผ่านมาไม่เป็นไร แต่จากนี้ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าเงินที่เก็บไปทำอะไร และดูว่าเงินที่เก็บไปจะกลับมาพัฒนาตอบแทนคืนสังคมได้อย่างไรหรืออาจตั้งเป็นกองทุนดูแลผู้ค้าหาบเร่แผงลอยได้หรือไม่
และขอย้ำกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ ต้องโปร่งใส ถ้าพบทุจริตไล่ออกแน่นอน เพราะหน้าที่ของเราคือต้องดูแลประชาชน เรื่องนี้ต้องเอาจริงเอาจังเพราะทีาผ่านมามีคนพูดถึงเรื่องนี้จำนวนมาก อดีตไม่เป็นไร แต่อนาคตต้องช่วยกันทำให้เมืองดีขึ้น เพราะประชาชนถือว่าอยู่ในภาวะเศรษฐกิจลำบาก ข้าวของแพงขึ้นอยู่แล้ว ให้คิดว่าพนักงานเทศกิจโชคดีที่มีงาน มีเงินเดือน มีสวัสดิการ แต่พี่น้องพ่อค้าแม่ค้าแต่ละวันยังไม่มีข้าวกิน ถือว่าเราโชคดีอย่าเบียดเบียนเขา ถ้าเบียดเบียนสุดท้ายเราไม่มีงานทำตัวเราเองและครอบครัวจะลำบาก
จากนั้น ชัชชาติ เดินทางต่อไปยังอุโมงค์ทางลอดสามแยกไฟฉาย ระบุว่า ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องขนาดเส้นทาง การประสานงานกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพราะ รฟม. สร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และคาดว่าวันที่ 1 ส.ค. จะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้น พร้อมเปิดให้บริการ และขณะนี้ เท่าที่ตรวจดูยังมีงานต้องเก็บอีกจำนวนมาก โดยกำชับว่าจะต้องเก็บให้ละเอียด เพราะไม่มีโอกาสที่เปิดแล้วจะมาปิดทำใหม่ ซึ่งวันที่ 1 ส.ค. เมื่อเปิดใช้งานแล้ว คิดว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาให้กับประชาชนได้ เพราะอุโมงค์แยกไฟฉาย ถือว่าล่าช้าเพราะใช้เวลา 13 ปี สัญญาก่อสร้างเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2552
ขอยืนยันว่า กทม.จะเดินหน้าเต็มที่ในโครงการต่างๆ เพื่อคืนพื้นผิวการจราจรให้กับประชาชน ซึ่งจะเหลืออุโมงค์ราชพฤกษ์ ก็เป็นอุโมงค์หลักที่จะต้องรีบทำให้เสร็จ ทั้งนี้ หากเปิดใช้อุโมงค์แยกไฟฉายแล้ว ก็อาจจะยังแก้ปัญหาการจราจรไม่ได้ 100% เพราะยังมีอุโมงค์ราชพฤกษ์ ที่จะเปิด 1 ก.ย. แต่เชื่อว่า จะทำให้คล่องตัวขึ้นและการจราจรดีขึ้น แต่ก็จะไปติดตรงห้าแยก ณ ระนอง ที่จะต้องเร่งดำเนินเช่นกัน
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งระหว่างการตรวจอุโมงค์ทางลอดสามแยกไฟฉาย ชัชชาติ บอกสื่อมวลชนว่าตนจะขอเป็นคนแรกที่วิ่งทะลุอุโมงค์ดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงรองเท้าที่ใส่ ซึ่งชัชชาติ บอกว่า เป็นรุ่นเดิมกับคู่ขาวดำ แต่คู่นี้ ได้สั่งทำพิเศษ เพราะให้ออกแบบเองได้ สามารถใส่ชื่อตัวเองได้ เลือกได้ว่าจะเอาแถบสีอะไร ซึ่งตนเลือกสีแดงเลือดหมูกริปเทา เพราะสีแดงเลือดหมูคือสีประจำคณะวิศวะฯ จุฬา