สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคก้าวไกลสัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล และคณะทำงาน รับหนังสือจากภาคประชาชน : ประเด็นการรับปริญญาและแต่งกายตามเพศสภาพ ที่ลานแถลงข่าว รัฐสภาเกียกกาย
นำโดย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ,ปารมี ไวจงเจริญ ส.ส.เขตพรรคก้าวไกล กฤษฏ์ ชีวะธรรมานนท์ ,ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ ,เอกราช อุดมอำนวย และคณะทำงานความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล คณาสิต พ่วงอำไพ,อิชย์อาณิคม์ ขิตวิเศษ
ชมพิ้งค์ จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา อดีตนิสิตข้ามเพศ จุฬาฯ กล่าวว่าหลังจากที่ได้เรียกร้องสิทธิให้นักศึกษาบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศไทย 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งถือเป็นปีแรก และเป็นประวัติศาสตร์สีรุ้งหน้าใหม่ของประเทศไทย
แต่ด้วยเป็นการอนุโลมเป็นปีแรก ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งบางส่วนจึงไม่มีการประชาสัมพันธ์ อีกทั้งการอนุโลมนี้ต้องให้นักศึกษาแสดงความประสงค์ในการขอแต่งกายตามเพศสภาพ โดยมีระยะเวลากำหนด หากส่งไม่ทันจะไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ทั้งสิ้น
จึงได้ยื่นให้พรรคก้าวไกล ช่วยประสานงาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้น้องราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศไทย และนักศึกษาสวนดุสิตแสดงความประสงค์ขอแต่งกายตามเพศสภาพ
ปารมี ไวจงเจริญ กล่าวว่าสิทธิในร่างกาย เสื้อผ้า หน้าผม เป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ จึงขอวิงวอนทุกคนในสังคมได้ เข้าใจ ตระหนัก และยอมรับในสิทธินี้ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา
การอนุญาตให้นักเรียน/นักศึกษากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้ใช้สิทธิอย่างเต็มที่ เช่นโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ได้อนุญาตให้นักเรียนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้เลือกแต่งกายได้ตรงตามเพศสภาพ ถือว่าเป็นการเสริมพลังทางบวกให้กับเขาเหล่านั้น ได้นำพลังทางบวกมาขับเน้นศักยภาพ
"ดิฉันขอวิงวอนครู อาจารย์ ผู้บริหารโรงเรียน และผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกท่าน ได้โปรดตระหนักในเรื่องนี้ อนุญาตให้นักเรียน/นักศึกษา และบุคลากรทางการการศึกษาในสถาบัน ได้เลือกที่จะแต่งกายได้ตามเพศสภาพของเขา หันหน้ามาพูดคุยกัน ทำความเข้าใจกัน สร้างข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดการแต่งกายเสื้อผ้าหน้าผมที่เหมาะสมที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน"
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กล่าวว่า “การแต่งกายตามเพศสภาพเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ถูกพูดถึงมาตลอด เนื่องจากระบบกฏหมายไทยเป็นสองเพศจึงนำสู่กฏระเบียบสองเพศที่มีเพียงชายและหญิง ซึ่งด้านวิชาการและกฏหมายต่างประเทศนั่น ต่างมีข้อเสนอแนะมากมาย ปัจจุบันนั้นต่างประเทศได้มีการบัญญัติ อัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ เพศวิถี ในกฏหมาย เพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ว่าเพศคือเจตจำนงค์ที่บุคคลนัั้นต้องนิยามเพศตนเองได้”
เรื่องเพศเป็นอีกประเด็นที่พรรคก้าวไกลต้องดำเนินเปลี่ยนโครงสร้างเพศสู่ความหลากหลาย ซึ่งในขณะนี้ตนและพรรคก้าวไกลได้ดำเนินการยกร่างกฏหมาย การรับรองเพศ คำนำหน้า และการคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ เสร็จและพร้อมยื่นสู่สภาแล้ว และร่างกฏหมายฉบับนี้ก็เป็นอีกกฏหมายที่จะยื่นเข้าสู่สภารวมอยู่ในกลุ่มร่างกฏหมาย 45+ ฉบับอีกหนึ่งแผนดำเนินงาน
“เพศคือเจตจำนงค์ เป็นสิทธิมนุษยชนที่กำหนดเอง และกฏหมายต้องเปลี่ยนแปลง” ธัญวัจน์ กล่าวทิ้งท้าย