หากมองกันด้วยสายตาปกติ การใช้ชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ก่อนเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด ประชาชนจำนวนมากมีห้างสรรพสินค้าเสมือนเป็นศูนย์สร้างความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจชั้นเลิศให้กับชีวิต คงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมและชีวิตที่ยากลำบากของประชากรลาวในพื้นที่ห่างไกลอันเป็นผลมาจากความพยายามในการสร้างเขื่อนเพื่อขายกระแสไฟฟ้าของรัฐบาลท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองกันใหม่ด้วยระยะสายตาที่ถอยห่างออกมาแต่พิจารณาให้ลึกเข้าไปอย่างที่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงเผยแพร่ ภายใต้ชื่อ 'Circuits of power: Environmental injustice from Bangkok’s shopping malls to Laos’ hydropower dams' (วงจรแห่งพลังงาน: ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมจากห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ถึงเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของลาว) จะพบว่าความสัมพันธ์นี้มีอยู่จริงท่ามกลางความไม่รับรู้ของประชาชนในประเทศผู้ใช้พลังงาน
'แดนนี มาร์กซ์' และ 'จุน ชาง' ผู้เขียนงานวิจัยทั้งสองคนชี้ว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เขตกรุงเทพมหานครและ 5 จังหวัดปริมณฑล มีการเติบโตสูงขึ้นถึง 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตระหว่างปี 2523-2543 โดยในปี 2558 เขตพื้นที่นี้มีประชากรทั้งสิ้นกว่า 15.3 ล้านคน อันเนื่องมาจากการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำมาหากิน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากฝั่งเอกชนที่พัฒนา กทม.ให้เป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
ด้วยเหตุนี้ อัตราการเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าจึงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง และส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของประชากรเมืองที่หันหน้าเข้าสู่แนวคิดบริโภคนิยมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยทั้งสองยังชี้ว่า ความสำเร็จและธุรกิจศูนย์การค้าไม่ได้จำกัดอยู่ภายใต้รูปแบบธุรกิจแบบบริโภคนิยมเท่านั้น เพราะห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีแค่ระดับที่ตอบโจทย์ประชากรชนชั้นกลาง หรือชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ทำธุรกิจตอบโจทย์ผู้มีรายได้น้อยเช่นเดียวกัน
งานวิจัยชี้ว่า สาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้ห้างสรรพสินค้ากลายเป็นสถานที่สำคัญของคนเมือง แท้จริงแล้วเป็นเพราะคนกรุงเทพฯ ไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่านี้แล้ว และด้วยตัวเลือกจำกัด ชาวกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องอาศัยการไปห้างสรรพสินค้าเพื่อแสดงออกถึงความทันสมัยของการใช้ชีวิต
ปัญหาสำคัญอีกหนึ่งประการ คือศูนย์การค้าขนาดใหญ่เหล่านี้ยังส่งผลกับวัฏจักรสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายและบังคับให้ประชาชนมองว่าการเดินเข้าห้างฯ เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจาก ห้างสรรพสินค้าเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 6-7 องศาเซลเซียสในช่วงหน้าร้อน จนเป็นเหตุให้ประชาชนไม่ต้องการทำกิจกรรมอื่นๆ และพร้อมเพียงกันมุ่งหน้าเข้าห้างฯ แทน
โดยข้อมูลจากกระทรวงพลังงานในปี 2560 พบว่า ไทยใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับระดับการใช้ตั้งแต่ปี 2545-2560 โดยพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมลฑลกินสัดส่วนการใช้งานทั้งสิ้นร้อยละ 40 แม้จะมีที่ดินเพียงร้อยละ 1.5 ของประเทศเท่านั้น
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความต้องการกระแสไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งก็ไม่อาจโทษแต่เพียงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างเดียวเท่านั้นเพราะทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็ไม่ได้มีความพยายามในการตั้งโครงสร้างราคาที่ไม่เอื้อต่อการใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมากของศูนย์การค้าขนาดใหญ่แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญที่งานวิจัยฉบับนี้เน้นก็คือตัวประชาชนผู้เป็นส่วนหนึ่งในการใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมหาศาลเหล่านี้กลับไม่ค่อยฉุกใจคิดว่าพลังงานในประเทศนั้นได้มากจากที่ใด
อ้างอิงจากการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 (PDP2015) ของกระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าที่จะซื้อกระแสไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มจากสัดส่วนร้อยละ 6 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 15 - 20 ในปี 2579
ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ว่า ปัจจุบันไทยนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวทั้ง 9 แห่ง จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ และกำลังเตรียมพร้อมนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากทั้งพลังน้ำและถ่านหินจากทั้งเมียนมาและลาวเพิ่มเป็น 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573
ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวกลายเป็นโครงการที่น่าสนใจของฝั่งรัฐบาลไทยเป็นเพราะปัจจัย 3 ประการ ซึ่งประการแรกคือโครงสร้างการปกป้องและเอื้อประโยชน์จากรัฐบาลให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย (กฟผ.) จนทำให้เกิด 'การประเมินอุปสงค์เกินความเป็นจริง' (over-forecast demand) จนเป็นที่มาของการลงทุนในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่มากกว่าที่จะหันไปลงทุนกับโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าหมุนเวียนที่ยั่งยืน
ขณะที่ปัจจัยต่อเนื่องกันอยู่ในฝั่งการลงทุนทั้งจากบริษัทเอกชนและสถาบันการเงินที่เล็งเห็นถึงผลประโยชน์จากโครงการในต่างประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะกับโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำในลาวที่มีบริษัทไทยจำนวนมากเข้าไปลงทุนและถือหุ้นอยู่
บริษัทเหล่านี้สามารถเข้าไปลงทุนในเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในลาวและนำเข้ามายังประเทศไทยในราคาถูก ในรายงานอ้างอิงข้อมูลจาก เจ้าหน้าที่ กฟผ.ในปี 2557 ชี้ว่า ราคาซื้อขายกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย อยู่ที่ราว 3 บาท/หน่วย ขณะที่บริษัทเหล่านี้สามารถนำเข้ากระแสไฟฟ้ามายังประเทศจากลาวได้ด้วยราคาเพียง 1.7 บาท/หน่วย เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุผลให้สถาบันการเงินจำนวนมากสนับสนุนโครงการเหล่านี้ โดยบริษัทจากไทยถือหุ้นสูงถึงร้อยละ 37 จากจำนวนโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลาวทั้งหมด (โดยไม่นับรวมโครงการในอนาคต) ซึ่งนับเป็นการถือหุ้นที่มากกว่าบริษัทจากลาวหรือแม้แต่จีนด้วยซ้ำ
ปัจจัยสุดท้าย กลับมาตกอยู่ในฝั่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (เอ็นจีโอ) และนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักวิจัยทั้งสองคนชี้ว่า แม้ไทยจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนต่างๆ อาทิ ในกรณีของเขื่อนปากมูลและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ตลอดเวลาที่ผ่านมา และดูเหมือนจะได้รับผลสำเร็จไม่น้อย แต่การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นไปในระดับท้องถิ่นมากกว่าที่จะเป็นการมองภาพรวมระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ
ทั้งหมดนี้ยิ่งกลายเป็นเหตุผลหลักให้หน่วยงานสำคัญอย่าง กฟผ.เลือกจะไปลงทุนผลิตเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลาวเพราะถ้าวางแผนจะสร้างเขื่อนในไทยก็ต้องเผชิญหน้ากับความกดดันภายในประเทศ แต่ความกดดันเหล่านี้กลับไม่ได้ตามไปถึงผล กระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชากรในต่างประเทศที่ไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่แต่อย่างใด
อีกทั้งโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้ายังได้รับการตอบรับอย่างดีจากรัฐบาลลาวด้วยซ้ำ เนื่องจากผู้มีอำนาจในฝั่งลาวมองการสร้างโรงงานไฟฟ้าด้วยเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นเครื่องขับเครื่องสำคัญของเศรษฐกิจ ตามแผนยุทธศาสตร์ปี 2020 ของวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Électricité du Laos: EDL) ตั้งเป้าโรงงานไฟฟ้า 90 แห่งทั่วประเทศ รองรับการเป็น “แหล่งพลังงานแห่งอาเซียน” หรือ “Battery of ASEAN”
งานวิจัยยกตัวอย่างผลกระทบที่ชุมชนท้องถิ่นต้องแบกรับจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีในลาว ที่มีบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ถึงร้อยละ 37.5 ตามมาด้วยบริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทลูกของ ปตท.ถือหุ้นอยู่อีกร้อยละ 25
โดยกลุ่มเอ็นจีโอที่เข้าไปสำรวจการก่อสร้างในปี 2555 พบว่า มีการเข้าไปเวนคืนโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับเจ้าของที่ อีกทั้ง ประชาชนในหมู่บ้านอีก 333 ราย จำเป็นต้องย้ายออกจากบ้านเรือนตนเองไปยังสถานที่อยู่อาศัยใหม่ ที่เอ็นจีโอกล่าวว่า 'สร้างอย่างหยาบๆ' (shoddily-constructed houses) จนประชาชนจำเป็นต้องออกเงินต่อเติมเองให้สามารถพักอาศัยอยู่ได้
ขณะที่ฝั่ง ช.การช่าง ที่มีการประเมินว่าจะได้รับรายรับกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (31,000 ล้านบาท) จากโครงการนี้ กลับมองเงินช่วยเหลือชาวบ้านแค่รายละ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน (469 บาท) เท่านั้น ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้ก็ไม่ได้สามารถเรียกร้องอะไรเพิ่มเติมได้ โดยงานวิจัยชี้ว่า ในช่วงเวลาต่อจากนี้ ชาวบ้านอีกอย่างต่ำ 2,000 ราย อาจต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์แบบเดียวกัน
'มาร์กซ์' และ 'ชาง' ย้ำในช่วงท้ายว่า การจั่วหัวขึ้นมาจากฝั่งการใช้พลังงานจำนวนมากในเมืองไม่ได้เป็นการโยนความผิดให้ประชาชนในเมืองหลวง และวิจัยฉบับนี้ก็เล็งเห็นว่ามีปัจจัยหลายอย่างในการสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่ส่งผลไปยังความต้องการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าในต่างประเทศจนเกิดผลกระทบตามมาต่อประชาชนในพื้นที่ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม
ทั้งฝั่งเอ็นจีโอที่ปกป้องการสร้างเขื่อนในประเทศ แต่ออกมาเคลื่อนไหวน้อยเกินไปเมื่อเป็นประเด็นในต่างประเทศ รวมไปถึงฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะองค์กรที่มีอำนาจในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้ง กฟผ. กฟภ. และ กฟน.รวมไปถึงฝั่งเอกชน ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้นที่มีการใช้กระแสไฟฟ้าของประชาชนเป็นหนทางในการหากำไรให้กับธุรกิจของตนเอง
"ความไม่เท่าเทียมและความไม่เป็นธรรมขึ้นอยู่กับทั้งผลกระทบและเจตนาเท่าๆ กัน"
อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของงานศึกษายังคงเป็นการตอกย้ำว่าประชาชนผู้ใช้กระแสไฟฟ้าจำเป็นต้องตระหนักและรับรู้ถึงแหล่งที่มาและผลกระทบของพลังงานที่ตนเองกำลังใช้ เพราะแม้คนกรุงเทพฯ ที่ไปเดินตามห้างสรรพสินค้าจะร่วมมือกับรัฐบาลในการลดใช้ถุงพลาสติกเพื่อช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้ว่าพวกเขาเองเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดความไม่เป็นธรรมในต่างประเทศหรือตระหนักว่าแหล่งพลังงานที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มาจากไหน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: