ไม่พบผลการค้นหา
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ระบุว่า เรเจป ทายยิป เออร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรเคีย ตกลงที่จะให้การสนับสนุนคำขอจากสวีเดนเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO โดยประธานาธิบดีตุรเคียจะส่งข้อเสนอของสวีเดนในการเข้าร่วม NATO ไปยังรัฐสภาในกรุงอังการา และให้รัฐสภาของตุรเคีย "ให้สัตยาบัน"

ในขณะเดียวกัน อุล์ฟ คริสเตอชอน นายกรัฐมนตรีสวีเดนกล่าวว่า "ผมมีความสุขมาก มันเป็นวันที่ดีสำหรับสวีเดน" ทั้งนี้ ตุรเคียเป็น 1 ใน 31 ชาติสมาชิก NATO ที่จะต้องลงมติเห็นด้วยอย่างเป็นเอกฉันท์ ในการรับสมาชิกใหม่เข้าร่วม NATO โดยก่อนหน้านี้ ตุรเคียใช้เวลาหลายเดือนในการขัดขวางการยื่นคำร้องของสวีเดน เพื่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO โดยตุรเคียกล่าวหาว่า สวีเดนให้ที่พักพิงแก่กลุ่มก่อการร้ายชาวเคิร์ด

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวถึงข่าวดังกล่าวว่า เขายินดีกับคำมั่นสัญญาของเออร์โดกันที่จะดำเนินการ "ให้สัตยาบันอย่างรวดเร็ว" พร้อมระบุว่า “ผมพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประธานาธิบดีเออร์โดกัน และตุรเคียในการเสริมสร้างการป้องกันและการป้องปรามในเขตยูโร-แอตแลนติก ผมหวังว่าจะได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีคริสเตอชอน และสวีเดนในฐานะพันธมิตร NATO ที่ 32 ของเรา” แถลงการณ์จากทำเนียบขาวระบุ

สโตลเทนเบิร์กประกาศข้อตกลงระหว่างตุรเคียกับสวีเดน เมื่อช่วงสายของวันจันทร์ (10 ก.ค.) หลังจากการพูดคุยระหว่างผู้นำตุรกีและสวีเดนในกรุงวิลนีอุส เมืองหลวงของลิทัวเนีย โดยเลขาธิการ NATO อธิบายว่าข้อตกลงในครั้งนี้เป็น "ก้าวประวัติศาสตร์" แต่เขาเน้นว่ายังไม่สามารถระบุได้ว่า "วันที่ชัดเจน" ที่สวีเดนจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตร NATO จะเกิดขึ้นเมื่อใด เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ ขึ้นอยู่กับรัฐสภาตุรเคีย

สวีเดนและฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของการวางตัวกลางในช่วงสงครามมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ดี ทั้งสองชาติประกาศความตั้งใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ในเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลายเดือนหลังจากที่รัสเซียเปิดฉากการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ฟินแลนด์เข้าร่วม NATO อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

สโตลเทนเบิร์กกล่าวว่าตุรเคียและสวีเดนได้จัดการกับ "ข้อกังวลด้านความปลอดภัยที่ชอบธรรมตามกฎหมายของตุรเคีย" และข้อตกลงดังกล่าวที่มีออกมาเป็นผลให้สวีเดนทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ขยายการดำเนินการต่อต้านการก่อการร้ายต่อพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) และกลับมาดำเนินการส่งออกอาวุธไปยังตุรเคีย

ปัจจุบันนี้ ตุรเคียและฮังการีเป็นสมาชิก NATO เพียง 2 ประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO ของสวีเดน โดยเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามเกี่ยวกับการต่อต้านการเข้าร่วม NATO ของสวีเดนจากฮังการีนั้น สโตลเทนเบิร์กกล่าวว่า "ฮังการีแสดงจุดยืนชัดเจนว่า พวกเขาจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่ให้สัตยาบัน" พร้อมย้ำว่า “ผมคิดว่าปัญหานั้นจะได้รับการแก้ไข”

เมื่อก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ เออร์โดกันพยายามเชื่อมโยงการสนับสนุนของตุรเคียต่อสวีเดนในการเข้าร่วม NATO เข้ากับการที่สหภาพยุโรปจะเปิดการเจรจาสมาชิกภาพอีกครั้งต่อตุรเคีย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปรีบปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยกล่าวว่าทั้ง 2 ประเด็นนั้นแยกจากกัน แต่ในการแถลงหลังการประกาศข้อตกลงล่าสุด NATO กล่าวว่าสวีเดนจะสนับสนุนความพยายามอย่างแข็งขันในการ "เสริมกำลังกระบวนการเข้าเป็นสหภาพยุโรปของตุรเคีย" และจะรวมถึง "การปรับปรุงสหภาพศุลกากรสหภาพยุโรป-ตุรเคียให้ทันสมัย และการเปิดเสรีวีซ่า"

ตุรเคียสมัครขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปครั้งแรกในปี 2530 แต่การปกครองของตุรเคียกลับกลายไปมีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น ภายใต้การปกครองของเออร์โดกัน ส่งผลให้กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของตุรเคียต้องหยุดชะงัก 

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน เออร์โดกันได้มีบทบาทพิเศษในฐานะผู้นำจากชาติ NATO ที่มีอิทธิพลต่อรัสเซีย เออร์โดกันยังช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาความริเริ่มธัญพืชทะเลดำเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ยูเครนสามารถส่งออกสินค้าเกษตรจากท่าเรือของตัวเองได้ ทั้งนี้ ตุรเคียช่วยให้ข้อตกลงดังกล่าวยังคงอยู่ แม้ว่ารัสเซียจะขู่ถอนตัวอยู่บ่อยครั้งก็ตาม แต่ตุรเคียได้ตอบโต้รัสเซียด้วยการจัดหาโดรนติดอาวุธให้แก่ยูเครน

การประชุมสุดยอด NATO จะเริ่มขึ้น ณ กรุงวิลนีอุสในวันอังคาร (11 ก.ค.) และจะมีการเสนอคำขอสถานะการเป็นสมาชิก NATO ของยูเครนในวาระการประชุมระดับสูง โดยสมาชิกพันธมิตรทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่ายูเครนไม่สามารถเข้าร่วม NATO ได้ในช่วงสงคราม ท่ามกลางความวิตกว่าการเข้าร่วม NATO ของยูเครนจะนำไปสู่ความขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซียที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี  ประธานาธิบดียูเครน กล่าวว่าเขาไม่คาดหวังการเป็นสมาชิกจนกว่าจะสิ้นสุดสงคราม แต่เขาต้องการให้การประชุมสุดยอดให้ "สัญญาณที่ชัดเจน" เกี่ยวกับข้อเสนอของยูเครน

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ออกมาเตือนเมื่อวันจันทร์ว่า การที่ยูเครนเป็นสมาชิก NATO จะ “ส่งผลเสียต่อโครงสร้างความมั่นคงทั้งหมด ซึ่งถูกทำลายไปครึ่งหนึ่งเหมือนในยุโรป” และการเป็นสมาชิก NATO ของยูเครนจะ "แสดงถึงอันตรายอย่างแท้จริง เป็นภัยคุกคามต่อประเทศของเรา ซึ่งจะทำให้เราต้องมีปฏิกิริยาที่ค่อนข้างหนักแน่นและชัดเจน"


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-66160319?fbclid=IwAR3ofy5ho0II5VsEHYGGXih5ylmSQTxUF1tFQG98g48r35MtpOPrJG-Mbaw