ไม่พบผลการค้นหา
สธ. รณรงค์ 'วันอนามัยโลก' 7 เมษายน กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมดูแลคุณภาพ 'อากาศ-น้ำ-อาหาร' ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ

 วันนี้ (7 เมษายน 2565) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานเยี่ยมชมนิทรรศการเนื่องในวันอนามัยโลก (World Health Day) บริเวณหน้าห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำ ประเทศไทย อธิบดีกรมอนามัย และภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ การประปานครหลวง  การประปาส่วนภูมิภาค สมาคมตลาดสดไทย

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 7 เมษายน ของทุกปี เป็นวันอนามัยโลก (World Health Day) โดยประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกใช้เป็นโอกาสรณรงค์   ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคมให้ความสำคัญกับสุขภาพดีถ้วนหน้า หรือ Health for all สำหรับการควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหา และส่งเสริมด้านสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยในปี 2565 ได้กำหนดหัวข้อ  การรณรงค์ “Our Planet, Our Health, clean air, water and food are available to all” หรือ “โลกของเรา สุขภาพของเรา ทำให้อากาศ อาหารและน้ำ สะอาด ปลอดภัยสำหรับทุกคน” ดูแลตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรค และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้มีการร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการกำหนดนโยบาย พัฒนาด้านกฎหมาย วิชาการ และงานวิจัย เช่น แผนปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2565) เพื่อเป็นกรอบ และทิศทาง การดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการแผนน้ำประปาปลอดภัย (Water Safety Plan) ให้น้ำประปามีคุณภาพตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก งานวิจัยทบทวนค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ ตามค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก มุ่งสู่การลดและป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพ ร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ด้าน นพ.วรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญ  ต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของประชาชนเพิ่มมากขึ้นทั้งจากการพัฒนาเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ และประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคุณภาพอากาศ ความปลอดภัยของน้ำรวมถึงอาหาร และสารเคมีเป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกอย่างน้อย 12.6 ล้านคนในแต่ละปี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและเพิ่มภาระในระบบสาธารณสุข

สำหรับประเทศไทย ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพก่อให้เกิดภาระโรค ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคที่มีน้ำ และอาหารเป็นสื่อ โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่สำคัญของประเทศไทย โดยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ มลพิษทางอากาศ ซึ่งในปี 2563 ยังพบเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตรมากกว่า 49 จังหวัด และมีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานสูงสุดถึง 67 วัน

นอกจากนี้ พบว่า คุณภาพน้ำบริโภคครัวเรือนไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ ค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ถึง 56.7% มีภาวะขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ เนื่องจากภัยแล้ง อุทกภัย ซึ่งมีแนวโน้มความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น รวมทั้งการเฝ้าระวังสุขาภิบาลอาหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์ 52.51%      

ดังนั้น การจัดการความเสี่ยงจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อลดความเสี่ยง ยังประโยชน์ในด้านสุขภาพ (Health Benefit) และความเสมอภาคทางสุขภาพ (Health Equity) เพื่อให้มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างยั่งยืนต่อไป