โดยให้เหตุผลว่า เป็นอีกหนึ่งปี ที่ทุกคนยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกัน ภายใต้หน้ากากของรัฐบาล ที่สร้างภาพจำตลอดเวลาว่าเป็นคนดี นโยบายทุกอย่างทำเพื่อบ้านเมือง และประชาชน แต่กลับเกิดข้อกังขาว่ายังเดินตามเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ได้หรือไม่
ส่วนฉายาของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นฉายาครั้งสุดท้ายของเขาหรือไม่ โดยสื่อมวลชนให้ฉายาว่า "แปดเปื้อน"
ด้วยเหตุปมวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี สั่นคลอนภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดปี 2565 และกลายเป็นข้อครหา ถึงความชอบธรรมในการครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อเนื่องยาวนาน พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ที่ศาลมีคำสั่ง ให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ แม้จะเพียงแค่ 38 วัน ก็ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยในตัวของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่มักจะพูดเสมอว่าไม่ยึดติดอำนาจ ทุกอย่างทำเพื่อบ้านเมือง และประชาชน
ขณะที่พี่ใหญ่ รองนายกรัฐมนตรีหมายเลข 1 อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ฉายาว่า "ลองนายกฯ"
ด้วยเหตุผลที่ พล.อ.ประวิตร เป็นเวลาเพียง 38 วัน ที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ พล.อ.ประวิตรก็ได้ทำอย่างสุดกำลัง ถึงแม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้ลองเป็นนายกฯ หลายครั้งที่ตัวจริงอย่าง พล.อ. ประยุทธ์ ต้องไปปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ พี่ใหญ่ในกลุ่ม 3 ป. ในฐานะ สร.2 ก็ทำหน้าที่แทนมาตลอด
หากย้อนไปตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ถูกสื่อมวลชนตั้งฉายาส่งท้ายปีอยู่ตลอด ยิ่งโฟกัสไปเพียงฉายาของ 2 ป. ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร
เพราะทั้งสองถูกจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)
ส่วน พล.อ.ประวิตร ถูกเชียร์และเข็นจากแกนนำ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
27 ธ.ค. 2564 ฉายารัฐบาลขณะนั้น คือ ยื้อยุทธ์
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ มีฉายาว่า "ชำรุดยุทธ์โทรม" เพราะการบริหารราชการแผ่นดินตลอดทั้งปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ถือได้ว่า เป็นผู้ที่รับบทหนักที่สุดแห่งปี ถูกมองว่าล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริหารราชการ หรือแม้แต่เรื่องทางการเมือง ถูกโจมตีรอบด้าน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังอยู่ในตำแหน่งได้ แต่ก็ทรุดโทรม เสื่อมสภาพไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ
พล.อ.ประวิตร ได้ฉายา "รองช้ำ" ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา พี่ใหญ่ในตระกูล 3 ป.อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประสบกับเรื่องช้ำๆ เจ็บซ้ำๆ มาโดยตลอด หลายสถานการณ์ต้องตกเป็นรอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องการเมือง โดยเฉพาะปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่เกิดความแตกแยกอย่างหนัก สะเทือนถึงพี่น้องอีก 2 ป สั่นคลอน " 3ป Forever " ซ้ายก็น้องรัก ขวาก็ลูกน้องที่รัก หักใจเลือกใครไม่ได้ สุดท้ายต้องยอมแบกความเจ็บช้ำไว้คนเดียว
28 ธ.ค. 2563 สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลตั้งฉายาว่า VERY “กู้” โดยเปรียบเปรยการทำงานของรัฐบาล ที่ต้องกอบกู้วิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กู้ชีวิตคนไทยให้อยู่รอดปลอดภัย แม้จะยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่ก็ยังดีกว่าหลายประเทศ แม้จะไม่ถึงขั้น very good ก็ตาม
พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตั้งฉายา "ตู่ไม่รู้ล้ม" ป็นการล้อคำ “โด่ไม่รู้ล้ม” ชื่อยาดองชนิดหนึ่ง สรรพคุณคึกคัก กระปี้กระเปร่า ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สะท้อนถึงการทำงาน ของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ว่าจะประสบปัญหา อุปสรรคการเมือง หรือ ชุมนุมขับไล่ถาโถม ก็ยังยืนหยัดฝ่าฟันอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป
พล.อ.ประวิตร มีฉายาว่า "ป้อมไม่รู้โรย" ล้อจากคำว่า บานไม่รู้โรย ด้วยภาพลักษณ์ของพี่ใหญ่ 3 ป. ในวัย 75 ปี ยังคงทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีเคียงข้างน้องๆ ได้ แถมยังแผ่บารมีควบเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล เหมือนกับดอกไม้ แม้จะบานนานมากแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้โรย ประกอบกับ วลีติดปากที่มักจะตอบคำถามสื่อมวลชน แทบทุกครั้งว่า ไม่รู้ ๆ อยู่เสมอ
ย้อนไปปีแรกของการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลพรรคร่วมรัฐบาลกว่า 20 พรรค ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ โดยเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2562 สื่อมวลชนตั้งฉายาครั้งแรกให้ว่า "รัฐเชียงกง"
รัฐเชียงกง เป็นการสะท้อนภาพรัฐบาลคล้ายแหล่งค้าขายอะไหล่มือสอง ประกอบกันขึ้นจาก ข้าราชการยุคก่อน และ นักการเมืองหน้าเก่า แม้ใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังขาดความน่าเชื่อถือ สะท้อนความไม่มีเสถียรภาพ
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฉายา "อิเหนาเมาหมัด" พล.อ. ประวิตร ได้ฉายา "พี่ใหญ่สายเอ็นต์ฯ"
ในห้วง 4 ปีที่ผ่านมา มีวาทะแห่งปี ที่สำคัญที่สื่อมวลชนหยิบยกมาสะท้อนถึงตัวตนของ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงการยึดติดในอำนาจไม่ยอมลงจากตำแหน่ง ทั้งจากการถูกมรสุมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และโรคระบาดที่รุมถล่มซัดกระหน่ำ พล.อ.ประยุทธ์
ในปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดว่า "อย่าเพิ่งเบื่อผมก็แล้วกัน ยังไงผมก็อยู่อีกนานพอสมควร"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างให้โอวาทเจ้าหน้าที่และนักกีฬาทีมชาติไทยที่จะเดินทางไปร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562
ปี 2563 สื่อมวลชนยกวาทะของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ที่ตอบสื่อมวลชนต่อหน้าคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 เป็นวาทะแห่งปี ว่า “ไม่ออก.. แล้วผมทำผิดอะไรหรือ” ซึ่งเป็นการตอบคำถามถึงประเด็นที่กลุ่มผู้ชุมนุมกดดันขับไล่และยื่นเงื่อนไขให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ในปีดังกล่าวรัฐบาลจะต้องเผชิญกับการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดหนัก
วาทะดังกล่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศชัดว่าไม่ออก และจะอยู่ไปอีกนาน
สะท้อนชัดเจนว่าแม้จะผ่านพ้น 8 ปีนับแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหารปี 2557 และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่สนใจเสียงกดดันหรือเรียกร้องทั้งในและนอกสภาฯ
แต่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 ด้วยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียงเห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ต้องเริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่
นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีก 2 ปีจนถึงปี 2568 หากผลการเลือกตั้งในปี 2566 สามารถหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 3 ได้ในอีก ครึ่งเทอมของรัฐบาลชุดต่อไป
ผลงานชอง พล.อ.ประยุทธ์ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาจะถููกพิสูจน์ว่าในการเลือกตั้งทั่วไป ประชาชนจะให้ฉันทานุมัติ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่ออีกหรือไม่ และ พล.อ.ประวิตร จะได้ลองขึ้นแท่นเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงหรือไม่
ประชาชนเท่านั้นคือคำตอบในการลงคะแนนเสียงวันเลือกตั้ง!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง