ตั้งแต่เกิดกระแสและการเคลื่อนไหวผ่านแคมเปญ #MeToo ในปี 2017 หลายคนทั่วโลกตัดสินใจเปิดเผยประสบการณ์อันเลวร้ายของตัวเองให้สาธารณะได้รับรู้ว่า “ฉันเองก็เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ” นำไปสู่การเปิดโปงและฟ้องร้องบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมโดยเฉพาะในแวดวงฮอลลีวูด
หลายคนทราบดีว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ ‘เหยื่อ’ หรือ ‘ผู้รอดชีวิต’ จะออกมาพูดต่อสาธารณะถึงสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ฝ่ายผู้ละเมิดเป็นบุคคลที่มีอำนาจและชื่อเสียง แต่ก็มักจะมีคำถามตามมาอยู่เสมอ เรามักได้ยินหลายคนถามว่า “ทำไมผ่านมาตั้งนานแล้วเพิ่งจะออกมาพูด?”
มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ศึกษาประเด็นนี้ และพบว่ามีเหตุผลมากมายและซับซ้อนที่ทำให้ผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ หลายคนเก็บเรื่องที่เกิดขึ้นไว้คนเดียว ไม่บอกแม้กระทั่งเพื่อนหรือครอบครัว
‘วอยซ์’ ชวนอ่านบทสรุปสั้นๆ จาก 7 งานวิจัยที่อาจช่วยตอบคำถามคาใจใครหลายคน งานวิจัยที่ยกมาไม่ได้ศึกษาแค่ผู้หญิง แต่ยังรวมถึงผู้ชายที่เป็นผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เจ้าหน้าที่ทหาร และนักโทษด้วย
ผู้หญิงเกินครึ่ง ‘ไม่รู้’ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือการข่มขืน
ลอร่า ซี. วิลสัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแมรี วอชิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา นำทีมวิจัยถึง 28 โปรเจ็กต์ เพื่อศึกษาว่า บ่อยครั้งแค่ไหนที่ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการข่มขืน การศึกษามุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์ของผู้หญิงทั้งหมด 5,917 คนที่ถูกข่มขืนตั้งอายุ 14 ปีขึ้นไป
นักวิจัยพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงร้อยละ 60.4 ไม่รู้ว่าการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นการข่มขืน แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะตรงกับคำจำกัดความของ ‘การข่มขืน’ ก็ตาม
การค้นพบนี้ทำให้เกิดคำถามต่อความเข้าใจเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศที่อาจส่งผลต่อการประเมินสถานการณ์และจำนวนการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นจริง และส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปนโยบาย การจัดสรรบริการด้านสุขภาพจิต การรับรู้ของผู้รอดชีวิตเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขา และทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้รอดชีวิตด้วย
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยเน้นย้ำว่า ผลลัพธ์จากการศึกษาครั้งนี้อาจไม่ครอบคลุมถึงผู้ชายที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือผู้หญิงที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศก่อนอายุ 14 ปี
“เราไม่แจ้งความเรื่องแบบนี้กัน” เมื่อ ‘เพื่อน’ เป็นผู้ละเมิด
แคเร็น จี. ไวส์ รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องความรุนแรงทางเพศ ศึกษากรณีวัยรุ่นที่ประสบเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศ พบว่า ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นเพื่อนวัยรุ่นด้วยกัน และวัยรุ่นส่วนใหญ่ลังเลที่จะแจ้งความเพราะไม่แน่ใจว่าทำได้ไหม และไม่อยากมีปัญหากับเพื่อน
มีเพียง 5% ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีการแจ้งความกับตำรวจ และ 25% ถูกรายงานไปยังหน่วยงานอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่และครูที่โรงเรียนหรือนายจ้าง
จากการสำรวจพบว่า เกินครึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการบีบบังคับทางเพศ เช่น การข่มขืนและพยายามข่มขืน เหตุการณ์อื่นที่วัยรุ่นเผชิญ ได้แก่ การลูบคลำ เป็นต้น โดยวัยรุ่นเกือบครึ่งกล่าวว่า ผู้ที่ล่วงละเมิดเป็นเยาวชนคนอื่นๆ ที่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 17 ปี
ผลการศึกษาจากงานวิจัยครั้งนี้พบว่า มีบรรทัดฐานบางอย่างในหมู่วัยรุ่นที่กดดันให้คนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศรู้สึกว่าควรจะต้องเพิกเฉย ไม่แจ้งความ พยายามไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และทำให้เป็นเรื่องปกติเสีย เพื่อที่จะได้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน และที่สำคัญจะได้ไม่ต้องมีปัญหากับเพื่อนๆ ด้วย
เมื่อสังคมยังทำให้รู้สึกว่าการถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่อง ‘น่าละอาย’ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างไม่กล้าแจ้งความ
แคเร็น จี. ไวส์ รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย วิเคราะห์คำแถลงของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจ ‘ผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมแห่งชาติประจำปี’ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยตรวจสอบคำตอบในแบบสำรวจที่ขอให้พวกเขาอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา
เธอได้รับอนุญาตให้เข้าถึงสำเนาข้อมูลที่รวบรวมจากผู้ตอบแบบสำรวจระหว่างปี 1992 ถึงต้นปี 2000 ตัวอย่างสำหรับการศึกษานี้ประกอบด้วยผู้หญิง 116 คนและผู้ชาย 20 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี
สิ่งที่รองศาสตราจารย์ไวส์พบ คือผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากพูดถึง ‘ความละอาย’ เป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น และทำไมพวกเขาไม่ไปหาตำรวจ ผู้หญิงอายุ 19 ปีคนหนึ่งกล่าวว่า ‘เธอรู้สึกละอายใจและกล่าวโทษตัวเองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเธอรู้จักผู้ชายที่ข่มขืนเธอ และไม่สามารถหยุดเขาได้’
รองศาสตราจารย์ไวส์กล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลต่อการรู้สึกละอายของผู้ตกเป็นเหยื่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ มาจากสมมติฐานทางวัฒนธรรมที่กำหนดว่า 'ผู้หญิงที่ดี' ควรประพฤติตัวอย่างไร และ 'ผู้หญิงที่เลว' จะถูกตัดสินอย่างไร หลังจากถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ
“ผู้หญิงกลัวว่าพวกเธอจะถูกตำหนิ ถูกทำให้อับอาย หรือเสียชื่อเสียง และมักจะรู้สึกละอายใจเกินกว่าจะรายงานกับตำรวจว่าตนเองตกเป็นเหยื่อการถูกละเมิดทางเพศ”
ความรู้สึกอับอายก็เป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับผู้ชายเช่นกัน ความคิดหวังในสังคมที่มีต่อผู้ชาย ทำให้หลายคนคิดว่า อาชญากรรมทางเพศไม่ควรเกิดขึ้นกับผู้ชาย หากคนอื่นรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอาจส่งผล ‘ลดทอนความเป็นชาย’ ทำให้ผู้ชายหลายคนเลือกที่จะไม่เปิดเผยและแจ้งความกับตำรวจว่าตนเองถูกล่วงละเมิดทางเพศ
‘ความอับอาย’ ส่งผลต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
ผลการศึกษาเบื้องต้นสอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่เน้นไปยังกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ศึกษาโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิสซูริ-โคลัมเบีย
นักศึกษาที่ทำแบบสำรวจให้คะแนน “ความอับอาย ความรู้สึกผิด” “ความกังวลเรื่องความลับถูกเปิดเผย” และ “ความกลัวว่าจะไม่มีใครเชื่อ” เป็นอุปสรรค 3 อันดับแรกในการรายงานการข่มขืนของทั้งชายและหญิง
ที่น่าสนใจคือ นักศึกษาชายให้คะแนนเรื่องความอับอายว่าเป็นอุปสรรคต่อการแจ้งความมากกว่านักศึกษาหญิง หลายคนให้เหตุผลว่า พวกเขากลัวว่า “จะถูกตัดสินว่าเป็นเกย์” ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อทางสังคมว่า กรณีผู้ชายถูกข่มขืน “เกิดขึ้นเฉพาะในชุมชนเกย์เท่านั้น” ทั้งที่มีการศึกษาที่ยืนยันว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับรสนิยมทางเพศ
เช่นเดียวกันกับงานวิจัยของ คริสทีน เลวาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยไอดาโฮ ที่สุ่มตัวอย่างนักโทษจากเรือนจำของรัฐเท็กซัส 8 แห่ง เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมนักโทษชายจึงไม่รายงานการล่วงละเมิดทางเพศ
สำหรับผู้ต้องขังชาย เหตุผลที่พวกเขาเลือกที่จะไม่รายงานการถูกล่วงละเมิดทางเพศมาจากความอับอาย ความกังวลเรื่องการตอบโต้จากผู้ต้องขังคนอื่นๆ และความกลัวว่าจะถูกล่วงละเมิดและทารุณจากผู้ต้องขังคนอื่นๆ อีก
“สภาพแวดล้อมในเรือนจำชายทำให้ผู้ต้องขังอยู่รอดได้ด้วยการพยายามสำแดงความเป็นชาย” เลวานเขียนในรายงาน
“แม้ว่าการโจมตีผู้ที่ล่วงละเมิดทางเพศอาจจะได้รับการเคารพนับถือ แต่สุดท้ายคนตกเป็นเหยื่อก็จะถูกมองว่าอ่อนแออยู่ดี นักโทษชายมักถูกคาดหวังไม่ให้แสดงความอ่อนแอโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ การยอมรับว่าตนเองเป็นเหยื่อจากการถูกละเมิดทางเพศมักถูกมองว่าเป็นเครื่องบ่งชี้แก่ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ว่าคนที่โดนล่วงละเมิดคือคนที่อ่อนแอจริงๆ”
ไม่รู้จะทำอย่างไรในเมื่อหัวหน้านั่นแหละที่เป็นผู้ละเมิดทางเพศ ประสบการณ์จากทหารหญิงในสหรัฐฯ
งานวิจัยนี้สัมภาษณ์ผู้หญิงที่เคยรับใช้กองทัพบกหรือกองทัพอากาศของสหรัฐฯ และเคยประสบเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างน้อยหนึ่งครั้งขณะปฏิบัติงาน จากผู้หญิง 1,339 คนที่สัมภาษณ์ 18% กล่าวว่า พวกเธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศขณะปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา
3 ใน 4 ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้รายงานสิ่งที่เกิดขึ้น ร้อยละ 80 กล่าวว่าผู้กระทำความผิดเป็นบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ผู้หญิงไม่ให้รายงานการทำร้ายร่างกายอย่างเป็นทางการ คือความอับอาย และไม่รู้ว่าจะรายงานอย่างไร รวมถึงความกังวลว่าการรายงานจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะอาจทำให้ความลับถูกเปิดเผย และส่งผลต่ออาชีพการงานของพวกเธอ บางคนให้เหตุผลว่า เลือกที่จะไม่รายงานต่อผู้บังคับบัญชา เพราะเขาเป็นผู้ล่วงละเมิดทางเพศเธอนั่นเอง หรือในบางกรณี ผู้บังคับบัญชาเป็นเพื่อนกับผู้ที่กระทำความผิด
นักวิจัยพบว่า ทหารหญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมีแนวโน้มที่จะรายงานการล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้นหากเหตุการณ์เกิดขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือหากมีการบาดเจ็บทางร่างกาย การศึกษายังพบว่า ทหารหญิงที่ไม่ได้จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่จะรายงานการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า
หลายครั้งที่การล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องของอำนาจและการพยายามควบคุมอีกฝ่าย การศึกษาเรื่องทหารหญิงสอดคล้องกับงานวิจัยกรณีนักศึกษาหญิง ที่ระบุว่า "การพึ่งพาทางการเงิน” จากผู้ล่วงละเมิดทางเพศ และ “การถูกขัดขวาง” โดยผู้ล่วงละเมิดทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเธอไม่ได้ขอความช่วยเหลือหรือแจ้งความ
องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังทางสังคมของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women เขียนถึง ‘วัฒนธรรมการข่มขืน’ ไว้ว่า วัฒนธรรมข่มขืนนั้นแพร่หลาย ฝังรากลึกอยู่ในวิธีที่เราคิด พูด และเคลื่อนไหวในโลก แม้ว่าบริบทอาจแตกต่างกันไป วัฒนธรรมการข่มขืนมักมีรากฐานมาจากความเชื่อในปิตาธิปไตย อำนาจ และการควบคุม
วัฒนธรรมการข่มขืนสะท้อนสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ยอมให้ความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องปกติและเป็นธรรม ขับเคลื่อนโดยความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และทัศนคติเกี่ยวกับเพศ เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการหยุดวัฒนธรรมการข่มขืนได้หลายทาง ทั้งการช่วยกันให้ความหมายกับความเป็นชายและความเป็นหญิงใหม่ การไม่กล่าวโทษเหยื่อ และการรับฟังเรื่องราวของผู้ที่ถูกละเมิดทางเพศ
ที่มา: https://journalistsresource.org/health/sexual-assault-report-why-research/
https://casa.org.au/assets/Documents/Information-for-male-victims-of-rape.pdf
https://un-women.medium.com/16-ways-you-can-stand-against-rape-culture-88bf12638f12