นับตั้งแต่การค้นพบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด สายพันธุ์โอไมครอน ในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศพยายามค้นหาว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้โอไมครอนส่งผลรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่สามารถแพร่ระบาดและติดต่อได้เร็วกว่า
‘วอยซ์’ สรุปข้อมูลบางส่วนจากรายงานผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอน โดยนักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และญี่ปุ่น
ติดต่อกันได้ง่ายกว่า เพราะโอไมครอนสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้
ความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัสขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น เวลาที่ไวรัสยังคงอยู่ในอากาศ ความสามารถในการจับตัวกับเซลล์ และความสามารถในการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
จากการศึกษาของประเทศเดนมาร์ก โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาโคเปนเฮเกน สำนักงานสถิติแห่งชาติเดนมาร์ก และสถาบันเซรุ่มแห่งเดนมาร์ก พบว่า สายพันธุ์โอไมครอนสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของคนที่ได้รับวัคซีนได้ดีกว่าสายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อมากกว่า
จากการศึกษาข้อมูลจากเกือบ 12,000 ครัวเรือนในเดนมาร์กช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่า ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดลตา 2.7-3.7 เท่า ในกลุ่มประชากรชาวเดนมาร์กที่ได้รับวัคซีนแล้ว อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ยังคงต้องรอการร่วมตรวจสอบจากคณะนักวิจัยที่เกี่ยวข้อง
“ผลการวิจัยของเรายืนยันว่า การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์โอไมครอน หลักๆ มาจากความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ไม่ได้เป็นเพราะไวรัสเพิ่มความสามารถในการแพร่เชื้อของตัวเองตามธรรมชาติ"
อาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ก่อนหน้า เพราะโอไมครอนไม่(ค่อย)ลงปอด
เมื่อมีรายงานการค้นพบสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้ในตอนนั้นคือลักษณะการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมมากกว่า 50 ครั้งของโอไมครอนที่ทั้งโดดเด่นและน่าตกใจ
"คุณไม่สามารถคาดเดาพฤติกรรมของไวรัสได้จากแค่การกลายพันธุ์”
ศาสตราจารย์รวินทรา คุปตะ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าว เนื่องจากการวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น บางส่วนทำให้โคโรนาไวรัสสามารถจับเซลล์ได้แน่นขึ้น บ้างทำให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงแอนติบอดีได้ ย้อนกลับไปเมื่อโลกเพิ่งรู้จักสายพันธุ์โอไมครอนครั้งแรก นักวิจัยยังไม่รู้ว่าการกลายพันธุ์จะนำมาสู่อะไร
แม้การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและมากขึ้นของสายพันธุ์โอไมครอนทั่วโลก แต่การรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การศึกษาเบื้องต้นจากกลุ่มประชากรผู้ป่วยพบว่า สายพันธุ์โอไมครอนมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยหลายประการ เนื่องจากกลุ่มคนที่ติดเชื้อโอไมครอนในช่วงแรกเป็นคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสน้อยที่จะป่วยหนักจากไวรัสทุกสายพันธุ์ รวมทั้งยังพบการติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ทั้งคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนและคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า สายพันธุ์โอไมครอนส่งผลให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังไม่ฉีดวัคซีนด้วยไหม?
ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มวิจัยจำนวนหนึ่งรวมทั้งทีมของของศาสตราจารย์คุปตะ พยายามค้นหาคำตอบนั้นด้วยการทดลองกับหนูและแฮมสเตอร์ การทดลองหลายครั้งของนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นแสดงผลไปในทิศทางเดียวกันคือ สายพันธุ์โอไมครอนส่งผลให้มีอาการเจ็บป่วยที่น้อยกว่าเดลตาและสายพันธุ์ก่อนหน้า
สาเหตุที่โอไมครอนส่งผลรุนแรงน้อยกว่าเป็นเพราะโอไมครอนไม่สามารถเติบโตได้ดีในปอด
ดร.ไมเคิล ไดมอนด์ นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และทีมวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่อยู่ในจมูกของแฮมสเตอร์ มีจำนวนเท่ากันกับในสัตว์ที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่น แต่โอไมครอนที่อยู่ในปอดมีจำนวนน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เป็นอย่างมาก
การค้นพบนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับงานวิจัยจากฮ่องกงที่พบว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเติบโตในปอดได้ช้ากว่าสายพันธุ์เดลตา แต่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นเมื่ออยู่ในหลอดลม
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กล่าวว่า มีหลักฐานมากขึ้นที่แสดงว่าสายพันธุ์โอไมครอนส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดอาการที่เบากว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า
"อาจเป็นข่าวดี แต่เราจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม" อับดี มาฮามุด ตัวแทนจาก WHO ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว
เข็มกระตุ้นช่วยลดโอกาสในการป่วยและแพร่เชื้อ
แม้ว่าโอไมครอนดูจะหลบเลี่ยงและผ่านภูมิคุ้มกันไปได้ แต่องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า มีหลักฐานที่พบว่า วัคซีนโควิด-19 ยังสามารถป้องกันการต้องรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้
หลังจากช่วงแรกที่สายพันธุ์โอไมครอนเริ่มแพร่ระบาด บริษัทผลิตวัคซีนหลายแห่งยืนยันตรงกันว่า วัคซีนสองเข็มอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป ที่ผ่านมามีการศึกษาจากหลายที่ยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า เข็มที่สามหรือที่เรียกว่า เข็มกระตุ้น สามารถช่วยเพิ่มแอนติบอดีในร่างกายได้หลายเท่า
ผลการทดลองของบริษัทผลิตวัคซีนไฟเซอร์พบว่า ตัวอย่างเลือดจากคนที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่สาม) ไปแล้วหนึ่งเดือน มีระดับแอนติบอดีที่สามารถสู้กับโอไมครอนได้ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถป้องกันสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ได้หลังจากฉีดวัคซีนสองเข็ม
ในขณะเดียวกัน ดร.ปีเตอร์ มาร์กส์ ผู้อำนวยการด้านวัคซีนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ FDA กล่าวในแถลงการณ์ว่า FDA ตัดสินใจแนะนำให้เพิ่มจำนวนวัคซีนสำหรับคนหนุ่มสาว เพราะเข็มกระตุ้น "อาจช่วยป้องกันทั้งสายพันธุ์เดลตาและโอไมครอนได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโอไมครอนสามารถต้านทานแอนติบอดีได้มากกว่า”
ผลการศึกษาจากนักวิจัยเดนมาร์กยังพบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีโอกาสแพร่เชื้อไวรัสได้น้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนใดใดเลย 78% ของชาวเดนมาร์กได้รับการฉีดวัคซีนครบสองเข็ม ในขณะที่เกือบ 48% ของชาวเดนมาร์กได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว โดยชาวเดนมาร์ก 8 ใน 10 คน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์
ที่มา:
https://www.nytimes.com/2021/12/31/health/covid-omicron-lung-cells.html