ไม่พบผลการค้นหา
ปภ.รายงานนายกฯแพทองธารทำ Cell Broadcast ตามข้อสั่งการพร้อมแล้ว เตรียมทดสอบระบบศุกร์ 2 พ.ค.นี้ นายกฯ ย้ำให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องรวดเร็วทันเหตุการณ์ข้อความที่ใช้ต้องชัดเจนยึดบทเรียนที่ผ่านมาในการรับมือภัยพิบัติทุกประเภท

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษากองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภช.)เปิดเผยว่า ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ปภ.) เร่งพัฒนาระบบ Cell Broadcast หรือ (CB) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้วิธีการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่องผ่านเครือข่ายเซลลูลาร์ของระบบโทรคมนาคมในระยะเวลาสั้น โดยไม่ต้องทราบหมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับและไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อยกระดับการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ อุบัติภัย เช่น แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม น้ำท่วม หรืออุบัติเหตุใหญ่ๆ ที่มีความจำเป็นต้องแจ้งเตือนประชาชน ซึ่ง CB นี้เป็นระบบเตือนภัยมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกใช้งาน เนื่องจาก ประสิทธิภาพของระบบที่สามารถส่งตรงถึงโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยระบบดังกล่าวนี้จะแตกต่างจากการส่งข้อความหรือ SMS เนื่องจากผู้รับแม้จะปิดเสียงโทรศัพท์หรือเปิดโหมดสั่นระบบ CB ก็จะส่งสัญญาณสั่นและเสียงเตือนเข้าไปที่มือถือทุกระบบพร้อมข้อความที่เตือนอย่างชัดเจนในแต่ละพื้นที่ที่มีเหตุ 

นายจิรายุกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบและขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกันอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะเรื่องความรวดเร็วในการส่ง รวมทั้งข้อความที่ส่งต้องชัดเจนตรงประเด็นในแต่ละรูปแบบของภัยพิบัติ และพื้นที่ที่มีเหตุเกิดขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่นอำเภอ “ก” จำลองว่าจะเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน ระบบ CB ก็จะส่งข้อความไปเตือนประชาชนในอำเภอ “ก” หรืออำเภอใกล้เคียงเพื่อเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และเตือนประชาชนนอกพื้นที่ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ที่จะเกิดเหตุเป็นต้น

ทั้งนี้นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานความคืบหน้าว่าขณะนี้ได้พัฒนาระบบดังกล่าวแล้วเสร็จและได้ซักซ้อมแนวปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. กรมประชาสัมพันธ์ และผู้ให้บริการค่ายมือถือทั้ง AIS True-Dtac และ NT ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือทั่วประเทศกว่า 120 ล้านหมายเลขในประเทศไทย ทั้งระบบ IOS และ Android แล้ว

“ระบบแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast มีความพร้อมใช้งาน แต่ก่อนใช้งานจริง จะมีการจัดทดสอบใน 3 ระดับ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง จะสามารถแจ้งเตือนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำ”

นายจิรายุกล่าวต่อไปว่า การทดสอบระบบ Cell Broadcast จะดำเนินการทดสอบ 3 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ครั้งที่ 1 ในวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคมนี้เวลา 13.00 น. จะเป็นการทดสอบระดับเล็ก จะส่งแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่ 5 จังหวัดในบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯอาคาร A และอาคาร B ถนนแจ้งวัฒนะกรุงเทพมหานคร

ครั้งที่ 2 จะทดลองส่งสัญญาณในวันพุธที่ 7 พฤษภาคมนี้ เวลา 13.00 น. เป็นการแจ้งเตือน ระดับกลางในระดับอำเภอ/เขต 5 พื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ซึ่งการทดสอบส่งสัญญาณในระดับกลางนี้จะทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน ทุกตำบล ในอำเภอต่างๆจะได้รับสัญญาณจาก CB ในการทดสอบการเตือน

สำหรับการทดสอบส่งแจ้งเตือนในระดับสูงสุดในครั้งที่3 จะดำเนินการในวันอังคารที่ 13 พฤษภาคม นี้เวลา 13.00 น. ซึ่งถือว่าเป็นการทดสอบระดับใหญ่โดย CB จะแจ้งเตือนในรูปแบบเต็มพื้นที่ระดับจังหวัด 5 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.อุดรธานี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร

'ทั้งนี้การแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast จะส่งตรงเข้าโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ทดสอบ และจะมีเสียงสัญญาณดังขึ้นแม้โทรศัพท์จะปิดเสียง จึงอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนกสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับสัญญาณเตือนดังกล่าว 

จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์วันและเวลาที่จะมีการทดสอบระบบ เพื่อป้องกันความสับสนและตื่นตระหนกของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นจากการทดสอบระบบดังกล่าว ทั้งนี้รัฐบาลจะร่วมมือกับทุกแพลตฟอร์มและเครือข่ายสื่อสารรวมทั้งหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานในการประชาสัมพันธ์เป็นระยะ ๆ จนถึงวันเริ่มทดลอง  

ทั้งนี้เมื่อเสร็จสิ้นการทดลองระบบทั้ง 3 ครั้งแล้ว ปภ.จะดำเนินการทดลองระบบในระดับประเทศทั้ง 77 จังหวัดพร้อมกันต่อไป' นายจิรายุกล่าว