นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้นำคณะเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ครั้งที่ 31 และการประชุมระหว่างคณะมนตรี กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 29 ณ เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ร่วมกับคณะผู้แทนจาก สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ผู้แทนหุ้นส่วนการพัฒนา ประเทศคู่เจรจา และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ พร้อมด้วยคณะผู้แทนฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายฉัตริน จันทร์หอม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นางพัชรวีร์ สุวรรณิก ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รักษาราชการแทน รองเลขาธิการ สทนช. ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ สทนช. โดย ฯพณฯ ดร.บุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ประธานคณะมนตรี MRC ประจำปี 2567 กล่าวเปิดการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ได้ร่วมหารือและกำหนดแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยได้พิจารณาแผนการดำเนินงาน ปี 2568 - 2569 และรับทราบการดำเนินงานตามแผนฯ ปี 2567 เพื่อรับมือกับความท้าทายในลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความรุนแรงและความถี่มากขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางน้ำ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเกิดจากการพัฒนา ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีประชาชนกว่าหลายล้านคนในอนุภูมิภาคต้องเผชิญกับอุทกภัย ในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและความยั่งยืนของระบบนิเวศ
นายประเสริฐ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าความร่วมมือและความมุ่งมั่นร่วมกันจะเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้มีความพร้อมในการเผชิญกับความท้าทาย เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับวันพรุ่งนี้ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และในโอกาสนี้ ยังได้รับมอบตำแหน่งประธานคณะมนตรี MRC ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นวาระการดำรงตำแหน่งของประเทศไทย โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือ ภายใต้กรอบ MRC ซึ่งเป็นกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ค.ศ. 1995 และยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2021 - 2030 โดยเชื่อมโยงสอดคล้องกับกรอบความร่วมมืออาเซียน วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ และความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างประโยชน์ร่วมกัน ผ่านการมีกลไกการเจรจาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ส่งเสริมการรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรต่าง ๆ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน คำนึงถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดการรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม รวมถึงการพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างความยั่งยืนที่แท้จริง
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น และการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรร่วมกับการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อให้สามารถตัดสินใจบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างสอดคล้องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันเวลาอย่างเหมาะสม เพื่อลดและบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม อีกทั้งได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการตั้งรับ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและจากการพัฒนาโครงการต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงในอนาคต
“รัฐบาลไทยมุ่งมั่นและสนับสนุนการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกรอบ MRC กับกลุ่มประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และกรอบความร่วมมืออื่นๆ ทั้งในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนอกภูมิภาค เพื่อผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวในการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยมุ่งหวังให้มีการประสานงานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และบูรณาการการดำเนินงานผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การศึกษา และวิจัยร่วมกัน ผ่านบทบาทของ MRC ในฐานะ ‘ศูนย์กลางความรู้และข้อมูลของอนุภูมิภาค’ เพื่อประโยชน์โดยตรงของประชาชน อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงและยึดผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกเป็นสำคัญ ยกระดับให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งความมั่งคั่ง เชื่อมโยง และพร้อมที่จะเผชิญความท้าทายทุกรูปแบบ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว
ขณะที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานในภาพรวม การรายงานความก้าวหน้าของกิจกรรม/แผนงานที่สำคัญ ประกอบด้วย การรายงานการสรรหาและคัดเลือกตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) คนที่ 9 การรายงานการดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของ MRC การรายงานการติดตั้งสถานีใหม่แล้วเสร็จ และการดำเนินการเครือข่ายหลักในการติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง (Core River Monitoring Network: CRMN) การรายงานความร่วมมือกับหุ้นส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การรายงานการวางแผนระดับภูมิภาคเชิงรุก (PRP) และความก้าวหน้าโครงการศึกษาร่วม การรายงานสถานการณ์สภาพอุตุ-อุทกวิทยาและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขงตอนล่างของปี 2567 นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับกำหนดการประชุมคณะมนตรี MRC ครั้งที่ 32 และการประชุมหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 30 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมด้วย