วันที่ 4 ตุลาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวปาฐกถาพิเศษและปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 หรือ Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024 ภายใต้แนวคิด ‘เร่งเปลี่ยนผ่าน สานพลังภาคี สู่สังคมที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ Accelerating the Climate Transition’ แสดงพลังความร่วมมือชูผลสำเร็จสู่เวทีโลก ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่าประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 พร้อมกับบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งรัฐบาลได้จัดทำแผนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยภายในปี ค.ศ. 2030 จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 222 ล้านตัน อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมระบบเตือนภัยพิบัติ และเร่งพัฒนากลไกการเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน สามารถรับมือและปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ พร้อมทั้งพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีและคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานสำหรับทั้งการใช้ภายในประเทศและการส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ปรับปรุงกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลส่งเสริม green economy ให้เป็นจุดแข็งของไทย เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น สำหรับในเวที COP 29 ที่จะมาถึงนี้ ประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้แสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่น และบูรณาการ
การทำงานอย่างครอบคลุมและสอดคล้องกับแนวทางของโลก และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แม้จะเป็นการเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่มั่นใจว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เพื่อส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตลอดการประชุม TCAC 2024 ทั้ง 2 วัน ระหว่างวันที่ 3 – 4 ตุลาคม 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัว และความมุ่งมั่นในการร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วน รวมกว่า 4,500 คน ซึ่งมีการนำเสนอ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และการดำเนินงานตามเป้าหมายระดับโลกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส มีการเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อยกระดับการดำเนินงานภายในประเทศ อาทิ การกำหนดเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดใหม่ หรือ NDC 3.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี ค.ศ. 2035 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในภาคเกษตรและเมืองยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างวิถีชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ การดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ การคาดการณ์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว กลไกการเตือนภัยพิบัติของประเทศไทย รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถให้พร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกระดับ เชื่อมโยงไปสู่การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นฐาน หรือ Nature-based Solutions (NbS) ผ่านการนำเสนอตัวอย่างการปฏิบัติที่ดี ทั้งของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
นายจตุพร กล่าวว่า ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเงิน การลงทุนซึ่งมีความจำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยต้องมีการดำเนินการเชิงรุก และมีนวัตกรรมทางการเงินโดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน สถาบันทางการเงินทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ในสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ซึ่งจะเป็นเครื่องมือภาคบังคับและส่งเสริมที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อีกทั้งยังเป็นเวทีให้กับเยาวชนได้มีส่วนร่วมและแสดงออกถึงแนวคิด บทบาทของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึง Influencer บุคคลต้นแบบในการส่งต่อเจตนารมณ์ ผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจได้นำเสนอการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ผ่านนวัตกรรมทางความคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ความสำเร็จในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในทุกระดับและทุกภาคส่วน ซึ่งประเทศไทยจะได้จัดแสดงใน Thailand Pavilion ในห้วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 หรือ COP 29 ที่จะจัดขึ้นปลายปี ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ต่อไป