ไม่พบผลการค้นหา
ในวันที่รายได้จากการท่องเที่ยวหายเกลี้ยง โรงแรมหลายแห่งต้องดิ้นสู้ เพื่อรักษาธุรกิจ-หาเงินหมุนเวียนดูแลพนักงานลูกจ้าง การสมัครเข้าโครงการเปิดบริการเป็นสถานที่กักตัวภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข หรือ 'State Quarantine' จึงเป็นทางเลือกทางรอด ที่ปัจจุบันมีโรงแรมทั่วประเทศราว 207 แห่งที่สมัครและผ่านการประเมินตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว

"รายได้เป็นศูนย์" คือสถานการณ์ของธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ในไทยนับตั้งแต่วันที่โรคโควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลก นักท่องเที่ยวยกเลิกการจองห้องพักจนแทบไม่เหลือ โรงแรมหลายแห่งจำต้องประกาศหยุดกิจการชั่วคราว เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้อีกต่อไป

ทว่าในภาวะวิกฤติครั้งนี้ โรงแรมบางแห่งได้ตัดสินใจเข้ารับการประเมินเป็น 'State Quarantine' หรือโรงแรมสำหรับการดูแลบุคคลที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและต้องกักกันตัว 14 วัน หลังรัฐบาลมีนโยบายให้ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทุกคนต้องกักกันตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19

ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศขอความร่วมมือจากโรงแรมที่สนใจและเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด เพราะหากอาศัยแค่เตียงในโรงพยาบาลอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ

จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2563 มีการเผยแพร่รายชื่อบนเว็บไซต์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่ามีโรงแรมที่ผ่านการประเมินตนเองตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขเป็น State Quarantine มีมากถึง 207 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมในกรุงเทพฯ 105 แห่ง และต่างจังหวัดอีก 102 แห่ง


ทำไมโรงแรมเหล่านี้ถึงกล้าเสี่ยง?!

เป็นคำถามที่หลายคนน่าจะสงสัย เหตุใดโรงแรมมากถึง 207 แห่ง จึงกล้าจะรับผู้ที่อาจจะเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาพักในพื้นที่ เพราะหากมองผ่านแว่นสายตาคนทั่วไป การพาโรงแรมมาอยู่ในสถานะ State Quarantine อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของโรงแรมในอนาคตและถูกมองในแง่ลบได้ หากลูกค้าไม่เข้าใจ

เบื้องลึกเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งสำคัญของผู้ประกอบการโรงแรมเหล่านี้คงมีเหตุผลแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระแสเงินสดที่ขาดหายนับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มระบาดจากจีน จนเป็นเหตุให้รัฐบาลจีนออกคำสั่งห้ามบริษัททัวร์พาคนจีนออกเดินทางต่างประเทศตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 2563 ส่งผลกระทบต่อยอดจองห้องพักทุกโรงแรม

เพราะที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนคือตลาดใหญ่อันดับ 1 ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยมากถึง 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 27 ของจำนวนชาวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด 39.8 ล้านคน กระจายในทุกโรงแรมสัดส่วนมากน้อยขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละแห่ง แต่ที่อ่วมหนักสุดคงเป็นโรงแรมที่รับทัวร์จีน 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่โรคนี้จะลามหนักไปทั่วเอเชีย กินขอบเขตไปถึงยุโรป อเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ ฉุดบรรยากาศการท่องเที่ยวทั่วโลก ไม่มีนักท่องเที่ยวจากชาติไหนออกเดินทาง


ช่วยสังคม ช่วยธุรกิจ หาเงินสดจ่ายเงินเดือนพนักงาน

แหล่งข่าวผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรายหนึ่ง เล่าว่า นอกเหนือจากเรื่องปัญหาสภาพคล่องที่ต้องใช้เงินสดหมุนเวียนสำหรับจ่ายเงินเดือนพนักงานแล้ว โรงแรมที่สนใจเป็น State Quarantine ได้ให้เหตุผลว่าเป็นการช่วยเหลือสังคม ใช้ห้องพักของโรงแรมที่ว่างอยู่ไปทำประโยชน์ได้ โดยทางรัฐได้ให้เงินสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายห้องพักด้วย ดังนั้นในภาวะที่รายได้หายไปการเข้ามาทำส่วนนี้ จึงเข้าทำนอง "Win-Win Situation" หรือจะเรียกว่า "พลิกวิกฤติเป็นโอกาส" ก็ได้เหมือนกัน และหลังจากวิกฤติโควิด-19 จบลง ประเด็นเรื่องโรงแรมที่เข้ามาเป็น State Quarantine จะถูกมองในด้านลบหรือไม่นั้น มองว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะทางโรงแรมเองก็ต้องทำความสะอาดเป็นอย่างดีอยู่แล้วตามมาตรฐานสุขอนามัยเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา

ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ควบคุมดูแลก็ได้ให้ความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการโรงแรมว่าสามารถกลับไปให้บริการนักท่องเที่ยวได้เหมือนเดิม

"ทั้งนี้มองว่ากระทรวงสาธารณสุขเองจำเป็นต้องออกใบรับรองให้แก่โรงแรมนั้นๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้คนที่อาจจะไม่กล้าเข้าพัก กลับมาเข้าพักได้ตามปกติ ทำให้ธุรกิจของโรงแรมที่ยินดีเป็น State Quarantine สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยุติ" แหล่งข่าวกล่าว


แอร์แยก พื้นห้ามปูพรม จัดการขยะน้ำเสียได้มาตรฐาน

สำหรับกระบวนการเข้ามาเป็น State Quarantine นั้น โรงแรมจะต้องเข้าประเมินตนเองในเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขว่าเข้าตามเงื่อนไขที่ต้องการหรือไม่ โดยหลักๆ มีเรื่องของห้องพักที่ต้องมีระบบเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนหรือไม่เป็นระบบท่อส่งลมเย็นร่วม พื้นห้องไม่ได้ปูพรม มีระบบการจัดการขยะ และมีระบบการบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน จากนั้นกระทรวงสาธารณสุขก็จะส่งทีมงานเข้ามาตรวจสอบโรงแรม พร้อมอบรมพนักงานเรื่องข้อควรปฏิบัติต่างๆ ขณะให้บริการผู้ที่เข้ามากักกันตัว เช่น การแต่งกาย และการป้องกันตัวเอง

'ศรันยพัฒน์ ประเสริฐสุข' ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงแรม เดอะ ภัทรา พระราม 9 ให้ข้อมูลว่า โรงแรมเดอะภัทราฯ ถือเป็นโรงแรมต้นแบบ State Quarantine ของประเทศไทย ปัจจุบันมีหลายๆ โรงแรมสนใจเข้ามาดูงานและนำไปเป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการเพื่อรองรับผู้กักกันตัว 

"โรงแรมเรามีขนาดห้องพักทั้งหมด 277 ห้อง สามารถรองรับได้จริง 263 ห้อง คาดว่าตลอดเดือนเมษายนนี้จะมีอัตราเข้าพักของผู้กักกันตัวเฉลี่ยร้อยละ 80 ซึ่งเป็นผู้เข้าพักกักตัวที่เดินทางมาจากทั้งญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ สเปน อินเดีย และอิหร่าน เป็นต้น" 

และแน่นอนว่าก่อนจะเข้าพักที่โรงแรม ผู้กักกันตัวจะผ่านกระบวนการคัดกรองโรคที่สนามบิน และเมื่อเดินทางมาถึงโรงแรมก็จะมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) มาตรวจว่ามีเชื้อโควิด-19 หรือไม่ หากไม่มีเชื้อ ก็สามารถเข้าพักที่โรงแรมได้ แต่ถ้ามีเชื้อ ก็จะถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไป ซึ่งตลอดการเปิดโรงแรมเดอะภัทราฯ เป็น State Quarantine ยังไม่พบว่ามีผู้กักกันตัวรายใดติดเชื้อโควิด-19

โรงเแรม เดอะ ภัทรา พระราม 9
รัฐจ่ายค่าห้องพักกักตัวขั้นต่ำ 1,000 บาท/คน/คืน

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จ่ายค่าห้องพักให้โรงแรมที่เป็น State Quarantine ในอัตราห้องละ 1,000 บาท/คน/คืน เป็นราคาห้องพักรวมอาหาร 3 มื้อ ค่าน้ำค่าไฟ และค่าบริการอื่นๆ (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7)

ถ้าในกรณีที่ผู้เข้ามากักกันตัวต้องการพัก 2 คนในห้องเดียวกัน เช่น คู่สามีภรรยา จะคิดเป็นอีกอัตราคือห้องละ 1,200 บาท/2 คน/คืน ส่วนในกรณีที่ต้องการพักด้วยกัน 3 คน เช่น พ่อแม่ลูก จะคิดที่อัตราห้องละ 1,400 บาท/3 คน/คืน โดยในกรณีที่ผู้กักกันตัวต้องการเข้าพักด้วยกันนั้น จะต้องเซ็นหนังสือยินยอมในการพักร่วมกัน เพราะจริงๆ แล้วรัฐบาลแนะนำให้แยกพักคนละห้องมากกว่า

"ก่อนหน้านี้โรงแรมเดอะภัทราฯ รับนักท่องเที่ยวจีนตลาดกรุ๊ปทัวร์เป็นหลักมากถึงร้อยละ 80-90 ของแขกทั้งหมด มีอัตราเข้าพักร้อยละ 80 ต่อเดือน แต่พอเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รายได้ก็หายไป เราจึงตัดสินใจสมัครเป็น State Quarantine รับผู้กักกันตัวที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แม้ราคาห้องพักที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จ่ายให้จะน้อยกว่าราคาที่เราขายแก่นักท่องเที่ยวผ่านเว็บไซต์บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่ 1,200-2,200 บาทต่อห้องต่อคืน ขึ้นอยู่กับประเภทห้องพัก แต่ก็ช่วยทำให้ธุรกิจโรงแรมของเราอยู่ได้ในช่วงวิกฤติแบบนี้ และสามารถช่วยเหลือพนักงานทั้ง 80 คนให้มีงานทำ ด้วยการสลับหมุนเวียนมาปฏิบัติหน้าที่ขณะโรงแรมเปลี่ยนเป็น State Quarantine ที่จำนวน 45 คน" ศรันยพัฒน์กล่าว

แม้นาทีนี้ไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการโรงแรมน่าจะมองตรงกัน นั่นก็คือการให้บริการของธุรกิจโรงแรมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป!

เพราะระหว่างรอการค้นพบยาหรือวัคซีนสำหรับรักษาหรือป้องกันโรคนี้ได้สำเร็จ ธุรกิจโรงแรมจะต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งจะเป็นแบบนี้ไปอีกสักพัก รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกประกาศเพิ่มเติม เพื่อเสริมความมั่นใจแก่ทั้งผู้ให้บริการและแขกเหรื่อมากหน้าหลายตาซึ่งล้วนเป็น "คนสำคัญ" ของห่วงโซ่ภาคท่องเที่ยวไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :