ไม่พบผลการค้นหา
หลังทำหนังครอบครัวญี่ปุ่นมานานจนคว้าปาล์มทองคำ รอบนี้ผู้กำกับดังกลับมาพร้อมหนังครอบครัว ที่เล่าด้วยจริตหนังฝรั่งเศสได้อย่างน่าสนใจ

*เนื้อหาต่อไปนี้มีการเปิดเผยบางส่วนของภาพยนตร์

หลังผู้กำกับภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่น ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ คว้ารางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ด้วยผลงานเรื่อง Shoplifters (2018) เป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะถูกจับตาว่าผลงานต่อจากนี้จะเป็นเช่นไร แล้วก็ตามคาดว่าการได้รางวัลส่งผลให้เขาได้ไปทำหนังในตลาดอินเตอร์ ทว่าแทนที่โคเรเอดะจะไปทำงานในฮอลลีวู้ดหรือหนังพูดภาษาอังกฤษ เขากลับเลือกไปถ่ายหนังในฝรั่งเศส พูดภาษาฝรั่งเศส และเต็มไปด้วยนักแสดงฝรั่งเศส

The Truth (2019) ผลงานเรื่องล่าสุดของเขาด้วยว่าด้วย ลูเมียร์ นักเขียนบทหญิงที่พาสามีและลูกมาเยี่ยม เฟเบียน-แม่ของเธอผู้เป็นนักแสดงดังค้างฟ้า-ที่ฝรั่งเศสหลังจากย้ายไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์กนานหลายปี ความสัมพันธ์ของแม่ลูกคู่นี้ไม่ค่อยลงรอยกันนัก หนังทั้งเรื่องจึงเต็มไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้งชนิดเบาบ้างหนักบ้างของทั้งสองคน

แวบแรกที่ผู้เขียนเห็นตัวอย่างของ The Truth ก็แอบ ‘เบื่อ’ ล่วงหน้า เนื่องจากหนังช่วงหลังของโคเรเอดะมักวนเวียนอยู่กับประเด็นครอบครัว ไม่ว่าจะ Like Father Like Son, Our Little Sister, After the Storm มาจนถึง Shoplifters ซึ่งมันก็มีอาการซ้ำซากอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ดี The Truth กลับกลายเป็นหนังครอบครัวที่น่าประทับใจ ด้วยความที่มันแทบไม่มีลักษณะแบบหนังญี่ปุ่นอยู่เลย ถ้าลองปิดชื่อผู้กำกับอาจเข้าใจว่าเป็นผลงานของคนทำหนังยุโรปสักคน

โดยปกติแล้วหนังของโคเรเอดะจะไม่ได้พูดจาอะไรกันมากนัก หากแต่การดำเนินเรื่องของ The Truth ถูกหล่อเลี้ยงด้วยไดอะล็อกแบบน้ำไหลไฟดับ (ซึ่งนี่คือเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหนังฝรั่งเศส) และจากเดิมที่มักตั้งกล้องนิ่งๆ ด้วยความคับแคบของบ้านแบบญี่ปุ่น พอมาเจอบ้านใหญ่โตของชนชั้นกลางปารีส หนังเรื่องนี้ของโคเรเอดะเลยมีการเคลื่อนกล้องแบบลื่นไหลดูเพลิน (หนังถ่ายโดย เอริก โกติเยร์ ผู้กำกับภาพชื่อดังชาวฝรั่งเศส)

กล่าวได้ว่าโคเรเอดะไม่ได้พยายามใส่จิตวิญญาณแบบเอเชียลงไปหนังเรื่องนี้เลย แถมเขายังเข้าใจและเข้าถึง ‘ความเป็นฝรั่งเศส’ ได้อย่างดีเยี่ยม และการกำกับดาราตัวแม่อย่าง แคทเธอรีน เดอเนิฟ กับ จูเลียต บิโนช ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงอย่างไรสำหรับเขา

002.jpg

ส่วนประเด็นเรื่อง ‘ความจริง’ ตามชื่อหนังก็มีอะไรให้ชวนคิดมากมาย ไล่ตั้งแต่การที่เฟเบียนเพิ่งออกหนังสือชีวประวัติตัวเอง เธอโกหกลูกสาวว่ามันได้ตีพิมพ์เป็นแสนเล่ม ทั้งที่ความจริงคือหลักหมื่น ซ้ำร้ายในหนังสือเธอยังนำเสนอตัวเองในฐานะแม่แสนดีที่ไปรอรับลูกที่โรงเรียน หากแต่ลูเมียร์ประท้วงว่านั่นไม่เป็นความจริงและมันไม่เคยเกิดขึ้น ส่วนเฟเบียนตอกกลับว่า “ฉันยอมเป็นแม่ที่เลว ตราบใดที่ฉันยังเป็นนักแสดงที่ดี”

เรื่องของ ‘การแสดง’ ก็เกี่ยวพันกับเรื่องความจริงเช่นกัน หนังเรื่องล่าสุดของเฟเบียนนั้นเป็นหนังไซไฟที่ว่าด้วยแม่ที่เดินทางออกนอกอวกาศและกลับมาเยี่ยมลูกนานๆ ที ในขณะที่ลูกสาวแก่ตัวขึ้น ฝั่งแม่กลับคงความอ่อนเยาว์ราวกับหยุดเวลาเอาไว้ ช่วงแรกดูเหมือนเฟเบียนจะไม่เข้าใจตัวละครของเธอและแสดงออกมาได้ไม่ดีนัก หากแต่เมื่อการถ่ายทำดำเนินไป เธอก็เริ่มจะเข้าถึงบทบาทได้มากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ยังสามารถ ‘คอนเน็ค’ กับลูกสาวของตัวเองได้ เรียกได้ว่าเส้นแบ่งระหว่าง ‘โลกมายา’ ในการถ่ายทำภาพยนตร์กับ ‘โลกจริง’ ภายในครอบครัวเริ่มพร่าเลือนเข้าหากัน

The Truth ดูมีท่าทีจะเป็นหนังสูตรของดราม่าครอบครัวในโลกภาพยนตร์ที่มักจบลงด้วยการคลี่คลายและสมานฉันท์กันของสมาชิกครอบครัว แต่ในฉากที่เฟเบียนและลูเมียร์ประคองกอดเพื่อเยียวยาบาดแผลให้กันและกัน อยู่ดีๆ เฟเบียนก็ชะงักแล้วพูดขึ้นมาว่า “ทำไมตอนถ่ายฉากนั้นฉันไม่แอ็คติ้งแบบนี้นะ!” จากนั้นเธอก็ติดต่อผู้กำกับขอถ่ายทำใหม่ทันที กล่าวคือเฟเบียนยังคงเลือกความเป็นนักแสดงมากกว่าความเป็นแม่อยู่ดี ซึ่งเป็นเรื่องสมเหตุสมผลแล้ว คนเราไม่มีทางเปลี่ยนนิสัยหรือกลับมารักกันได้ภายในชั่วเวลาไม่กี่วัน

หากแต่ไม่ได้มีเพียงเฟเบียนที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องการแสดง ในช่วงท้ายชาร์ล็อตต์-ลูกสาวของลูเมียร์-เข้าไปพูดประโยคอันน่าซาบซึ้งกับเฟเบียน ก่อนที่หนังจะเฉลยให้ทราบภายหลังว่าคำพูดของเด็กน้อยเป็นการ ‘เขียนบท’ มาจากลูเมียร์ (ก็แหงสิ อาชีพเธอคือนักเขียนบทนี่นา) กลายเป็นว่าโครงสร้างในบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยการ ‘ทำการแสดง’ ต่อกัน เป็นคำที่ฟังดูมีความหมายทางลบประมาณปลิ้นปล้อนหลอกลวง แต่เราต่างรู้กันดีว่าในหลายสถานการณ์ ทักษะแอ็คติ้งเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยประคับประคองสถาบันครอบครัวไว้ได้

004.png