ไม่พบผลการค้นหา
ดูเหมือน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในระยะหลังไม่เพียงจะมีไว้คุมโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังต้องคุมเข้มม็อบการเมืองที่กำลังจะปะทุหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเรียกร้องเงื่อนไขใหญ่พุ่งเป้าไปที่ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' เป็นการเฉพาะด้วยการยุบสภา ท่ามกลางอายุการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินกำลังจะหมดลงใน 31 ก.ค.นี้

"เราได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ประการไปยังรัฐบาลแล้ว และได้ให้เวลา 2 สัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นการเริ่มต้น วันนี้เราได้ปักหมุดหมายแห่งประชาธิปไตยลงบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกครั้งหลังจากไม่ได้เกิดขึ้นมานานแสนนาน และเราจะไม่หยุดเรียกร้องประชาธิปไตยต่อไป ขอประชาธิปไตยจงเจริญ เผด็จการจงพินาศ"

เฟซบุ๊ก เพจ เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH ได้ประกาศหลังสิ้นสุดกิจกรรมชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 หลังดีเดย์รวมตัวชุมนุมครั้งใหญ่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อคุมเข้มโรคโควิด-19

โดยยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 3 ข้อด้วยกัน 1.ต้องยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ก่อนสลายการชุมนุมเมื่อเวลา 23.05 น. วันที่ 18 ก.ค. 2563 ผู้จัดกิจกรรมย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต้องการคำตอบจากรัฐบาลภายใน 2 สัปดาห์ หากรัฐบาลไม่ตอบสนอง จะรวมตัวอีกครั้งที่ 'อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย' อีกครั้ง

การรวมตัวของ ภาคประชาชน เยาวชน นิสิต นักศึกษา ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกภายใต้การ 'ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร' ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การงัดอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กินเวลาด้วยกลไกอำนาจพิเศษนี้มาถึง 4 เดือน และมีแนวโน้มที่อาจจะต่อเวลาด้วยการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งในเดือน ส.ค. นี้

ชุมนุม เยาวชนปลดแอก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แม้ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จะเผยถึงสถานการณ์การคุมเข้มโรคไวรัสร้ายดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2563 โดยย้ำว่า ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อที่อยู่ในประเทศ ติดต่อกันมาเป็นเวลา 55 วันแล้ว

ทว่าการใช้กลไกอำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังคงจำเป็นอยู่สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์

เนื่องด้วย 'ฝ่ายความมั่นคง' ยังหวั่นปัจจัยแทรกซ้อนที่เพิ่มจากวิกฤตโควิด-19 คือการชุมนุมใหญ่เพื่อกดดันรัฐบาล 

เห็นได้ชัดจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563

โดยกำหนดไว้ใน ข้อ 5 การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด

หากผู้ใดฝ่าฝืนย่อมมีโทษตาม มาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ขณะเดียวกัน เครื่องมือของ ศบค. และ รัฐบาล ในการคุมเข้มม็อบการเมือง ยังรองรับผ่าน ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ซึ่งประกาศ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 ลงนามโดย พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง

"จึงกำหนดห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่เป็นการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถานของตนเอง หรือกิจกรรมของทางราชการ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่าง ระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ชุมนุม

แม้ฝ่ายการเมืองอย่างฝ่ายค้าน หรือภาคประชาชนจะกดดันให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะโรคโควิด-19 ไม่ได้แพร่ระบาดรุนแรงมาเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ไม่มีการติดเชื้อจากภายในประเทศ แต่การสนองตอบของรัฐบาลไม่ได้มีการตอบรับ

เห็นได้จากการต่อเวลา ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถึง 3 ครั้ง

ย้อนไทม์ไลน์ การเคลื่อนไหวนอกสภาผ่านกลุ่มผู้ชุมนุมที่กดดันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หากนับแต่มีการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อคุมเข้มไวรัสร้าย

จะพบว่ามีเงื่อนไขเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงทุกกลุ่ม 

ไม่ว่าจะเป็นการหายตัวไปอย่างไม่ทราบสาเหตุของ 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง และหายตัวไปในประเทศกัมพูชา

ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลทำ 'การ์ดตก' เสียเอง ปล่อยให้ 'แขกวีไอพี' ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศโดยไม่กักตัว 14 วัน สร้างความตื่นตระหนกภายในกรุงเทพฯ และ จ.ระยอง จนนำไปสู่การแสดงความไม่พอใจผ่านโลกโซเชียลฯ รวมทั้งการที่สองนักเคลื่อนไหวในนามกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวขณะทำกิจกรรมคัดค้าน พล.อ.ประยุทธ์ ที่ จ.ระยอง

ประยุทธ์ ระยอง 0715182941000000.jpg

ภายใต้การใช้อำนาจพิเศษผ่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถไล่เรียงวันและเวลา ที่เริ่มมีการลองของกดดันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาโดยตลอดของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

7 พ.ค. 2563 สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นำโดย 'พริษฐ์ ชีวารักษ์' หรือ ‘เพนกวิน’ พร้อมเครือข่ายจากหลายมหาวิทยาลัย รวมตัวกันหน้ากระทรวงการคลังเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือประชาชนอย่างถ้วนหน้า

5 มิ.ย. 2563 สนท.จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน #saveวันเฉลิม" บริเวณ Skywalk หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

8 มิ.ย. 2563 นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง แกนนำคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย พร้อมประชาชนและนักกิจกรรม รวมตัวกันเดินทางมาที่สถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย ถนนประชาอุทิศ กทม. เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ต่อกรณี 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' นักกิจกรรมที่ลี้ภัยการเมือง ซึ่งถูกอุ้มหายไปใน ‘กัมพูชา’

9 มิ.ย. 2563 สองแกนนำ สนท. นำโดย 'เพนกวิน' น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน สนท. น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และนายชนินทร์ วงษ์ศรี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคลื่อนไหวทำกิจกรรมผูกโบว์สีขาว บริเวณรั้วเหล็กกั้นโดยรอบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ท่ามกลางตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สน.สำราญราษฎร์ ขอร้องให้หยุดทำกิจกรรม และถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

สนท เพนกวิน พริษฐ์ โบว์สีขาว วันเฉลิม.jpg24มิถุนา เพนกวิน พริษฐ์ ประกาศคณะราษฎร

12 มิ.ย. 2563 สนท.ยังทำกิจกรรมผู้โบว์สีขาวที่หน้าทำเนียบรัฐบาลด้วยการประณามการอุ้มหายตัวของ 'วันเฉลิม' 

24 มิ.ย. 2563 ครบรอบ 88 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย กลุ่มประชาชนรวมตัวทำกิจกรรมตั้งแต่เช้ามืดผ่านกิจกรรม "ลบยังไง ก็ไม่ลืม" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน พร้อมฉายโฮโลแกรม เรื่องราวประวัติศาสตร์ทางกาเมืองของประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ด้วยการอ่านประกาศคณะราษฎร

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน จัดกิจกรรม "24 มิถุนายน 2563 ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน" ที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย เพื่อติดตามทวงถามทวงสัญญารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและเป็นโอกาสในการทวงคืนมรดกคณะราษฎรโดยเฉพาะ

24มิถุนา หมุดคณะราษฎร์จำลองครช  รัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้าน คณะราษฎร qqqqq.jpg

วันเดียวกันเวลา 18.00 น. สนท. นำโดย 'เพนกวิน' ผนึกกำลังกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) นัดหมายแนวร่วม ทำกิจกรรมรำลึก 88 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครองที่สกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน และอ่านประกาศคณะราษฎร พร้อมย้ำถ้อยคำในประกาศคณะราษฎร ที่ว่า "ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร"

30 มิ.ย. 2563 แกนนำ สนท. นัดทำกิจกรรมที่หน้า สน.ปทุมวัน เพื่อแสดงอารยะขัดขืนไม่ยอมรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังถูกตั้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และออกหมายเรียกให้มารายงานในวันดังกล่าวจากการจัดกิจกรรม 'ทวงความยุติธรรมให้ผู้ถูกอุ้มหาย' เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยแสดงสำเนาหมายเรียกของตำรวจพร้อมฉีกหมายเรียกต่อหน้าสื่อมวลชน

8 ก.ค. 2563 สนท. นำโดย 'เพนกวิน-ปนัสยา' แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อารยะขัดขืนไม่ยอมจำนนต่อการคุมคามจากอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่หน้า สน.ปทุมวัน เป็นครั้งที่สอง เพื่อคัดค้านการยืดอายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สนท_0.ต้านอารยะขัดขืน​ พรก.ฉุกเฉิน_๒๐๐๗๐๘.jpgพริษฐ์ ปนัสยา สนท_3.ต้านอารยะขัดขืน​ พรก.ฉุกเฉิน_๒๐๐๗๐๘.jpg

14 ก.ค. 2563 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และเครือข่าย นำโดย 'อานนท์ นำภา' ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำ DRG และน.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จัดกิจกรรม “HAPPY BIRTHDAY แบบแปลกแปลก” วาระครบรอบ 123 ปี ชาตกาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี สายคณะราษฎรคนสุดท้าย พร้อมจัดกิจกรมกินผัดไท-รำวงย้อนยุคในเพลง 'งามแสงเดือน' บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

จอมพล ป.

18 ก.ค. 2563 สนท. ร่วมกับเยาวชนปลดแอก จัดกิจกรรมชุมนุมครั้งใหญ่ระดมพลเรียกแนวร่วมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยื่นเงื่อนไข 3 ข้อถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา-หยุดคุกคามประชาชน-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขีดเส้นตายรัฐบาลต้องให้คำตอบภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมส่งสัญญาณเตือนชุมนุมใหญ่อีกครั้ง

20 ก.ค. 2563 แนวร่วมนวชีวิน ทำกิจกรรมหน้าทำเนียบรัฐบาล ด้วยการประท้วงเชิงสันติด้วยการอดอาหารเพื่อกดดันรัฐบาล ขณะที่ 'อานนท์ นำภา' ระดมมวลชนชุมนุมหน้ากองทัพบก เพื่อประณาม 'พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร' ที่โพสต์เฟซบุ๊กโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2563 ว่าเป็นม็อบมุ้งมิ้ง

ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินในห้วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีการชุมนุมทางการเมืองไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง!

เป้าหมายคือพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะ

ทำให้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องคงอำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ ด้วยเงื่อนไขที่ไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ได้ 

เพราะมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดเป็นข้อยกเว้นห้ามใช้ พ.ร.บ.นี้ใน (6) คือ การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกและการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

นั่นจึงทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ จึงตีความว่า การใช้เสรีภาพการชุมนุมภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพียงแต่ต้องห้ามชุมนุมที่ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19

เยาวชนปลดแอก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชุมนุม

รวมทั้งผู้ชุมนุมไม่ต้องแจ้งการชุมนุมต่อตำรวจท้องที่ ก่อน 24 ชั่วโมงตามพ.ร.บ.ดังกล่าว รวมทั้งข้อห้ามตาม พ.รบ.การชุมนุมสาธารณะ โดยเฉพาะการไม่ชุมนุมกีดขวางทางเข้า-ออกสถานที่ราชการ จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะติดเงื่อนไขของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามอำนาจแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ยิ่งรัฐบาลไม่ตอบสนอง 3 เงื่อนไขของกลุ่มผู้ชุมนุม จึงมีโอกาสที่ 'ม็อบการเมือง' ภายใต้การนำ สนท. เครือข่ายเยาวชนปลดแอก และภาคประชาชน จะดีเดย์ชุมนุมใหญ่อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันเสาร์ที่ 1 ส.ค. นี้

เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้

เงื่อนไขและความจำเป็นการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นคราวที่ 4 ในเดือน ส.ค.นี้ย่อมเป็นไปได้ เพื่อคุมเข้มม็อบการเมืองและอ้างว่าคุมโควิด-19 ที่รัฐบาลหวั่นว่าจะกลับมาระบาดหนักในรอบที่สอง!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง