ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีอาจารย์มหาวิทยาลัยหนึ่ง สอบถามมายังมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา กรณีมีรายการทีวีช่วงคุยข่าวช่องหนึ่ง อ้างว่ามีงานวิจัยจากฝรั่งเศสว่านิโคตินจากการสูบบุหรี่ช่วยป้องกันโควิด-19 ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น
มูลนิธิฯ ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ พบว่าหน่วยงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในสหรัฐอเมริกา Campaign for Tobacco Free Kids ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 เม.ย.63 สรุปดังนี้ ไม่มีหลักฐานว่า การสูบบุหรี่ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 โดยงานวิจัยจากฝรั่งเศสที่มีการนำมาอ้างอิง เป็นงานวิจัยที่มีจำนวนตัวอย่างผู้ป่วยน้อย จากโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว และเป็นรายงานที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบถึงความถูกต้องตามหลักวิชาการ (peer review)
ซึ่งข้อสรุปจากงานวิจัยจากฝรั่งเศส ขัดแย้งกับหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่า การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อทางเดินหายใจ ทำให้ภูมิต้านทานของปอดลดลง และเป็นสาเหตุหลักของโรคเรื้อรัง ที่รวมถึงโรคถุงลมปอดพอง โรคหัวใจ และเบาหวาน ซึ่งมีหลักฐานที่เพิ่มขึ้นว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อปอดเช่นกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ทำให้การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เมื่อเผชิญกับโควิด-19
ทั้งนี้ ยาสูบคร่าชีวิตครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคทำให้มีผู้เสียชีวิตปีละ 8 ล้านคน ผู้ที่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า จึงควรป้องกันตนเองจากโควิด-19 ด้วยการหยุดสูบ งานวิจัยพบว่า สุขภาพปอดจะดีขึ้นเร็วมากภายหลังจากที่หยุดสูบบุหรี่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและรัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ และเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทบุหรี่กลับใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมการขาย และเผยแพร่ข้อมูล ที่ไม่เป็นความจริง ว่าการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
อีกทั้งศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ CDC แนะนำให้หยุดสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และองค์การอนามัยโลก รวมทั้งหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ Public Health England แนะนำให้หยุดสูบบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จึงขอชี้แจงมาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับทุกฝ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :