'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดำเนินการสำรวจดัชนีการเมืองไทยโดยมีตัวชี้วัดรวม 25 ประเด็น ทั้งการบริหารงานของรัฐบาล ฝ่ายค้าน ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน บทบาทสื่อมวลชนและอื่นๆ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่จะบอกได้ว่าการเมืองไทย ดีขึ้น แย่ลง หรือเหมือนเดิม โดยให้คะแนนเต็ม 10 และหาค่าเฉลี่ย (X) ภาพรวมของการเมืองไทยออกมา ซึ่งในเดือนกันยายนนี้เป็นการสำรวจดัชนีการเมืองไทยครั้งที่ 2 นับตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ 2 แถลงนโยบายครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 และเข้ามาบริหารประเทศจนถึง ณ วันนี้เป็นเวลา 2 เดือนเต็ม
การให้คะแนนดัชนีการเมืองไทยครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม สวนดุสิตโพลจึงให้ประชาชนเปรียบเทียบกับเดือนกันยายนนี้ว่า 'ดีขึ้น' หรือ 'แย่ลง' กว่าเดือนที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนการปฏิบัติงานของ 'ฝ่ายค้าน' สูงที่สุด รวม 5.75 คะแนน แต่เป็นตัวเลขที่ลดลงจากผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อเดือน ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 5.92 คะแนน
ส่วนคะแนนการปฏิบัติตนของนักการเมือง/ ความสามัคคีของนักการเมืองอยู่ที่ 3.74 คะแนน (ลดจาก 4.09 เมื่อเดือน ส.ค.) ขณะที่ผลงานของนายกรัฐมนตรี 3.92 คะแนน (ลดจาก 4.63 คะแนน) และผลงานของรัฐบาล 3.90 คะแนน (ลดจาก 4.56 คะแนน) ส่วนการบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ 3.89 คะแนน (ลดจาก 4.49 คะแนน) และการแก้ปัญหาต่างๆของรัฐบาลในภาพรวม 3.88 คะแนน (ลดจาก 4.38 คะแนน)
ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23-28 กันยายน 2562 จำนวนทั้งสิ้น 2,456 คน (จำแนกเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 598 คน ร้อยละ 24.35 ภาคกลาง 502 คน ร้อยละ 20.44 ภาคเหนือ 361 คน ร้อยละ 14.70 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 641 คน ร้อยละ 26.10 และภาคใต้ 354 คน ร้อยละ 14.41 โดยมีตัวชี้วัดทั้งหมด 25 ประเด็น ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 4.12 คะแนน
ส่วนคะแนนดัชนีการเมืองไทยจำแนกตามรายละเอียด 25 ตัวชี้วัด เรียงตามลำดับได้ดังนี้ การปฏิบัติงานของฝ่ายค้าน 5.75 คะแนน ข่าวสารที่เผยแพร่จากสื่อต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ 5.06 คะแนน (ลดจาก 5.28 คะแนน) จริยธรรม /วัฒนธรรมของคนในชาติ 4.81 คะแนน (ลดจาก 5.28 คะแนน) ความสามัคคีของคนในชาติ 4.81 คะแนน (ลดจาก 4.91 คะแนน) การจัดการศึกษาสำหรับประชาชน 4.51 คะแนน (ลดจาก 4.90 คะแนน) การดำเนินงานของพรรคการเมืองโดยภาพรวม 4.44 คะแนน (จากเดิม 4.72 คะแนน)
ความมั่นคงของประเทศ /การก่อการร้าย 4.44 คะแนน (ลดจาก 4.70 คะแนน) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 4.25 (ลดจาก 4.62 คะแนน) การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า 4.22 คะแนน (ลดจาก 4.60 คะแนน) การแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพล 4.13 คะแนน (ลดจาก 4.23 คะแนน) สภาพของสังคมโดยรวม 4.12 คะแนน (ลดจาก 4.47 คะแนน) การมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรอิสระ 4.10 คะแนน (ลดจาก 4.57 คะแนน)
ผลงานของนายกรัฐมนตรี 3.92 คะแนน (ลดจาก 4.63 คะแนน) ผลงานของรัฐบาล 3.90 คะแนน (ลดจาก 4.56 คะแนน) การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ 3.89 คะแนน (ลดจาก 4.49 คะแนน) การแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลในภาพรวม 3.88 คะแนน (ลดจาก 4.38 คะแนน) ความเป็นอยู่ของประชาชน 3.79 คะแนน (ลดจาก 4.19 คะแนน) การปฏิบัติตนของนักการเมือง /ความสามัคคีของนักการเมือง 3.74 คะแนน (ลดจาก 4.09 คะแนน) การแก้ปัญหายาเสพติด 3.72 คะแนน (ลดจาก 4.09 คะแนน)
ค่าครองชีพ /เงินเดือน /ค่าจ้าง /สวัสดิการ 3.64 คะแนน (ลดจาก 4.08 คะแนน) สภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม 3.64 คะแนน (ลดจาก 4.09 คะแนน) การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน 3.62 คะแนน (ลดจาก 4.01 คะแนน) การแก้ปัญหาการว่างงาน 3.59 คะแนน (ลดจาก 4.01 คะแนน) การแก้ปัญหาความยากจน 3.36 คะแนน (ลดจาก 3.91 คะแนน) ราคาสินค้า 3.33 คะแนน (ลดจาก 3.86 คะแนน)
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังได้ให้คะแนนข้อเสนอแนะทางด้านการเมือง ณ วันนี้ คือ อันดับ 1 ควรห่วงใยประชาชนและแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เช่น น้ำท่วม การเกษตร เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 32.97 อันดับ 2 เน้นความสามัคคี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง โจมตีกันไปมา ร้อยละ 21.55 อันดับ 3 ควรแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด แก้ให้ตรงจุด ร้อยละ 19.15 อันดับ 4 บริหารบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ร้อยละ 18.05 อันดับ 5 มุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน รับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำงานเต็มกำลังเต็มความสามารถ ร้อยละ 16.76