แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การผลิตน้ำแข็งจะต้องผ่านกระบวนการหลายอย่างกว่าจะถึงผู้บริโภค หากผู้ผลิตไม่มีความระมัดระวังตั้งแต่คุณภาพของน้ำที่นำมาผลิต การเก็บ การขนส่ง รวมถึงภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งไม่สะอาดเพียงพอ อาจก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคได้
กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ควบคุมการผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน กรรมวิธีการผลิต การใช้น้ำในการผลิต สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง การใช้ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ตลอดจนการแสดงฉลาก ต้องมีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตหรือ จีเอ็มพี เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และนอกจากนั้นพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ยังบัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการควบคุม ตรวจสอบสุขลักษณะของการจำหน่ายน้ำแข็งในร้านอาหารและแผงลอย ตามข้อกำหนดของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม อาจมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ผู้จำหน่ายน้ำแข็งเองต้องคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัยโดยเฉพาะการเก็บรักษาความเย็นและภาชนะสำหรับบรรจุน้ำแข็ง ห้ามใช้แกลบ ขี้เลื่อย กระสอบ กาบมะพร้าว เสื่อ ในการห่อหรือปกคลุมน้ำแข็งเด็ดขาด โดยภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งต้องสะอาดไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค หากเป็นน้ำแข็งที่บรรจุในถุงพลาสติกจะต้องเป็นพลาสติกไม่มีสี และไม่บรรจุในถุงพลาสติกที่ผ่านการใช้มาแล้วหรือเป็นถุงที่เคยบรรจุสารเคมีมาก่อน เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือปุ๋ย เป็นต้น ถ้าบรรจุในถังน้ำแข็งต้องเป็นถังที่บรรจุน้ำแข็งเพียงอย่างเดียวห้ามมีอย่างอื่นแช่ในถังน้ำแข็งจะมีได้เฉพาะที่ตักน้ำแข็งมีด้ามเท่านั้น หากจะใช้น้ำแข็งเพื่อแช่น้ำดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่มต่างๆ ผักหรือเนื้อสัตว์ ควรแยกถังแช่ต่างหากไม่ควรนำมาแช่รวมกับน้ำแข็งที่ใช้เพื่อการบริโภค