ไม่พบผลการค้นหา
สมาพันธ์ นศ.มุสลิม เรียกร้องสันติบาล ทบทวนเหตุออกหนังสือเวียนขอข้อมูลนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ชี้ละเมิดสิทธิ เลือกปฏิบัติ เกิดการแบ่งแยก เตรียมหารือ สตช.เร็วๆ นี้

เสวนาในหัวข้อ "การละเมิดสิทธิในพื้นที่เสรีภาพทางความคิด" จากกรณีที่ตำรวจสันติบาลส่งหนังสือเวียนถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อขอให้ส่งรายชื่อและรายละเอียดข้อมูลของนิสิตนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ โดยมีนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และนักสิทธิมนุษยชน นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นายณัฐชนน ไพโรจน์ ประธานพรรคโดมปฏิวัติ ม.ธรรมศาสตร์ และอับดุลเลาะ สิเดะ ตัวแทนสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเสวนา 

นายอัสรอฟ อาแว ประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวก่อนเริ่มการเสวนาว่า ก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมาขอรายชื่อข้อมูลส่วนตัวนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยขอข้อมูลที่อยู่ว่ามาจากที่ไหน มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด มีการจำแนกพื้นที่ว่ามาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ รวมถึงขอรายละเอียดนิกายศาสนาและกิจกรรมในกลุ่มของนักศึกษามุสลิมที่ทำอยู่ 

ทางสมาพันธ์ฯ มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ที่ทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าสร้างความแตกแยกให้กับสังคม สร้างปัญหาที่เป็นลูกโซ่ เป็นการละเมิดสิทธิ์และเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานอื่นใดของรัฐก็ไม่ควรมาขอข้อมูลแบบนี้ ไม่ว่าจะศาสนาใด ตนไม่เห็นด้วย หากสันติบาลมั่นใจว่าใครทำผิดก็ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที

ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ ยืนยันว่าสันติบาลต้องทบทวนการกระทำและยกเลิกการขอรายชื่อนักศึกษามุสลิมเหล่านี้ โดยสมาพันธ์ฯได้ยืนหนังสือถึงกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรแล้ว และได้มีการนัดสมาพันธ์ฯไปพูดคุยในวันที่ 2 ต.ค.นี้ร่วมกันสันติบาล อีกทั้งทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย คาดว่าจะมีการพูดคุยในเร็วๆ นี้

ขณะที่นางอังคณา เปิดเผยว่า เรื่องนี้มีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างประเทศสอบถามตนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากตามหลักสากลแล้วถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพราะทำแบบนี้ไม่ได้ เนื่องขากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล และตามหลักต้อขออนุญาตเจ้าของข้อมูลด้วย ที่ผ่านมาประเทศไทยเองก็ยังไม่สามารถตอบคำถามนี้กับสากลได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่เองในตัวบทกฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า ต้องปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ที่ไม่ไปกระทบต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพ 

ทั้งนี้รู้สึกประหลาดใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยังรู้สึกนิ่งเฉยกับเรื่องนี้ ทั้งที่การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิและเป็นการตีตรากับกลุ่มนักศึกษามุสลิม โดยทั่วไปนักศึกษามุสลิมเองยังมีหลายกลุ่ม บางคนมีเชื้อสายจีน บางคนสนใจเข้าชมรมพระพุทธศาสนา และการที่รัฐต้องการทราบว่านักศึกษามุสลิมจะไปอยู่ในชมรมใด ก็ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของฝ่ายความมั่นคงเลย 

ดังนั้น ขอให้สันติบาลทบทวนขอข้อมูล อย่าเลือกปฏิบัติ และอย่าผลักคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นศัตรู เพราะคนที่มีความคิดสุดโต่งมีทุกชาติพันธุ์ ทัศนคติแบบนี้จะทำให้เกิดการแบ่งแยกทางศาสนามากขึ้น ขอให้ยุติการกระทำแบบนี้ก่อนที่ปัญหาจะขยายบานปลายมากขึ้น รวมถึงขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรักษาข้อมูลส่วนตัวให้กับนักศึกษาด้วย พร้อมทั้งอยากให้นักศึกษาพิจารณาใช้สิทธิทางศาล เพื่อตีความว่าการกระทำแบบนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และใช้อำนาจทางปกครองไม่ถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในสังคมต่อไป

อับดุลเลาะ สิเดะ กล่าวว่า เรื่องนี้ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตย เพราะทุกคนมีความเท่าเทียมกัน รัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติและขอข้อมูลจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เหตุการณ์ในครั้งนี้ตนรู้สึกเสียใจกับการกระทำของรัฐ ซึ่งเมื่อไปสอบถามนักศึกษามุสลิมทั่วประเทศส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย และไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหน หรือศาสนาใดก็ตามไม่ควรไปขอข้อมูลเช่นนี้ เพราะการกระทำของรัฐเช่นนี้ทำให้เป็นการตีตราว่ากลุ่มนักศึกษามุสลิมเป็นคนไม่ดี ซึ่งในคนมุสลิม มีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกันไป นับว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิ และมีอคติกับกลุ่มคนมุสลิม

ขณะที่นายชนาธิป กล่าวว่า คนที่ถูกเก็บข้อมูลก็รู้สึกกลัว เพราะเราไม่รู้ว่าข้อมูลจะถูกนำไปทำอะไร ดังนั้นตามหลักการสากลก่อนเก็บข้อมูลต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลโดยอิสระ ต้องไม่มีการบังคับ และแจ้งเตือนก่อนเพื่อให้เจ้าของข้อมูลมีเวลาตัดสินใจ และต้องได้รับทราบว่าข้อมูลจะถูกนำไปใช้อะไร ใครจะใช้ข้อมูลของเราบ้าง และข้อมูลจะต้องถูกลบออกทันทีหากไม่ได้นำไปใช้อะไร เพื่อสร้างความสบายใจ

นายณัฐชนน กล่าวว่า ในส่วนของ ม.ธรรมศาสตร์จะไม่ส่งรายชื่อให้ตำรวจสันติบาล เพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะเห็นด้วยถึงความจำเป็น เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิ โดยรัฐต้องจำกัดอำนาจของตนเอง การที่ทำแบบนี้คือการใช้อำนาจเกินขอบเขต และเป็นความพยายามให้มหาวิทยาลัยไปกดดันนักศึกษามุสลิมเหล่านั้นหรือไม่ สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาคือทุกคนต้องรักษาสิทธิเสรีภาพของตนเอง ไม่ควรส่งชื่อเราไป เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะนำชื่อเราไปทำอะไรบ้าง นักศึกษาต้องจับกลุ่มตัวเองให้แข็งแรงและพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย และสามารถไม่ส่งชื่อให้ตำรวจสันติบาลได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง