วันที่ 20 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3.185 พันล้านบาท ในวาระที่ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว และได้ดำเนินการประชุมมาถึงมาตรา 25 ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข
สงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย อภิปรายเพื่อขอปรับลดงบประมาณลง 1% โดยมองว่าการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข จัดอันดับความสำคัญและให้น้ำหนักผิด เพราะจัดสรรงบให้ อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) น้อยเกินไป ไม่สอดคล้องกับพันธกิจของกระทรวง
เช่นเดียวกับ อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ย้ำว่า อสม. ทำหน้าที่เป็นด่านหน้า หรือหน่วยกล้าตาย ทำงาน 24 ชม. ต่อวัน ด้วยค่าตอบแทนเดือนละ 1,000 บาท รัฐบาลประกาศว่าจะช่วยเพิ่มเติมอีก 500 บาท แต่ยังไม่ได้ ต้องชี้แจงในส่วนนี้ด้วย ขณะที่ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ เสนอให้ยกฐานะและเพิ่มความมั่นคงให้ อสม. ยกให้เป็นผู้ช่วยสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อรายได้และสวัสดิการที่ดีขึ้น
วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นแดนสนธยา ต้นตอของปัญหาความติดขัดทุกประการ โดยเฉพาะยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่ามีคุณภาพในการบรรเทาโรคโควิด-19 แต่ อย. กลับทำให้การนำเข้ายาดังกล่าวติดขัด ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายขอตัดงบ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขขาดความรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชน เนื่องจากมีประกาศให้กัญชาพ้นจากความเป็นยาเสพติด แต่กลับปล่อยช่องว่างทางกฏหมายไว้โดยไม่ควบคุม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เป็นที่อับอายไปทั่วโลก
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล งบส่วนมากของกระทรวงสาธารณสุข ทุ่มไปกับงบในการก่อสร้าง และกรรมาธิการฯ เองก็ตัดงบส่วนนี้ไปน้อยมาก และยังมีการเบิกจ่ายที่ล่าช้า ซึ่งอาจไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ จึงเชื่อว่าสามารถปรับลดลงได้ อีกทั้งงบก่อสร้างยังไปกระจุกตัวอยู่กับโรงพยาบาลในโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ มากกว่าค่ามัธยฐานของงบสำหรับโรงพยาบาลทั่วไป ควรชี้แจงว่ามีความจำเป็นใดจึงมีการจัดสรรงบอย่างกระจุกตัวสูงเช่นนี้
ก่อนการลงมติ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนวิปฝ่ายค้าน ได้แจ้งผลหารือกันระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน โดยระบุว่า เหตุการณ์เมื่อคืนเกิดวิปทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้พูดคุยกัน แม้ตนจะพยายามขอหารือไปทางฝ่ายรัฐบาลมากกว่า 5 ครั้ง แต่มีเพียงการหารือนอกรอบ และแต่ละฝ่ายก็เห็นไม่ตรงกัน ฝ่ายค้านจึงยืนยันตามมติเดิมว่าจะยุติการประชุมในเวลา 23.00 น. เพราะการฝืนประชุมต่อไปไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากจะดึกมากเกินแล้ว
“ผมโทษท่านประธานฯ ทั้ง 3 ท่าน ด้วยนะครับ เพราะท่านคือส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจให้เราเดินหน้า ทั้งที่ข้อตกลงเดิมเราจะจบการประชุมในเวลา 23.00 น. ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงคิดว่าการประชุมหลัง 23.00 น. จึงจะเป็นประโยชน์” จุลพันธ์ กล่าว
จุลพันธ์ ระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้รือกันว่าจะพยายามประชุมต่อไปให้ได้ไกลที่สุด โดยตั้งเป้าไว้ที่พิจารณาเสร็จสิ้น 36 มาตรา ค้างไว้ที่มาตราว่าด้วยแผนบูรณาการ แล้วจึงเลื่อนไปประชุมต่อในวันที่ 23 ส.ค. ซึ่งต่อมา อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะตัวแทนวิปรัฐบาล ยืนยันตามที่ จุลพันธ์ เสนอ ซึ่งประธานฯ ได้รับทราบ
หลังจากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก อนุมัติงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 3.721 หมื่นล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 227 ไม่เห็นด้วย 96 งดออกเสียง 2 โดยไม่มีการปรับลด