ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน มีการจัดเสวนา "วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย ทางออกจากวิกฤตประชาธิปไตยที่มืดมน" โดย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา' 35 และเครือข่ายภาคประชาชน
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.กล่าวว่า ประเทศเราอย่าเพิ่งพูดถึงทางออกเลย แต่เรากำลังจะเดินทางเข้าสู่ความมืดมนมากกว่า เราต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เขียนมาเพื่อการเอาเปรียบ การสืบทอดอำนาจ
นายจตุพร ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึง การดำเนินการกับพรรคการเมืองหนึ่งของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่ดำเนินการจัดการกับพรรคหนึ่งอย่างรวดเร็ว ในกรณีการยุบพรรค แต่กับอีกพรรคการเมืองหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับ พลเอกประยุทธ์ กลับดำเนินการอย่างเชื่องช้า เหมือนที่ตนได้เคยวิเคราะห์ไว้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ไม่ใช่กรรมการ แต่ใหญ่กว่ากรรมการ โดยมีอำนาจเหนือทั้ง กกต. สามารถปลดได้ทุกคน และ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เช่นกัน ที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ต่ออายุการทำงานให้
ทั้งนี้มองว่า ปัญหานี้จะนำพาประเทศเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง ประเทศไทยเอาอะไรแน่นอนชัดเจนไม่ได้ ไม่มีใครสามารถวิเคราะห์อะไรชัดเจนได้ ความจริงของวันนี้ พรุ่งนี้อาจไม่จริงก็ได้ หนทางข้างหน้ายังมีวิกฤต ไม่ใช่วิกฤตธรรมดาด้วย ณ ตอนนี้ ต่างคนต่างทราบดีว่า ไม่ใช่บรรยากาศของการเลือกตั้ง เงียบสงบเกินไป แต่เป็นเหมือนความเงียบสงบเกินธรรมดา ก่อนที่หนทางข้างหน้าจะมีสึนามิทางการเมืองรออยู่ ส่วนในด้านการลบผลพวงของการรัฐประหาร ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ที่หลายพรรคการเมืองพูดถึง เป็นไปได้ยากมาก เหมือนเป็นการปิดประตูตายไปแล้ว มีการล็อคไว้ด้วยกลไกหลายอย่าง ไม่ให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญได้ ประเทศไทยเรา ณ ตอนนี้ หาอนาคตไม่เจอ เดินหาทางมืดมนง่ายกว่าเดินหาทางสว่าง
นายจตุพร กล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่า พรรคพลังประชารัฐ จะได้เสียงน้อยชนิดคาดไม่ถึง ไม่มีทางได้ตามที่เขาคาดไว้อย่างแน่นอน เพราะความเดือดร้อนของประชาชน 5ปีที่ผ่านมา จะสะท้อนออกมา ส่วนในเรื่องที่พรรคการเมืองจะสามารถรวมเสียงกันให้ได้เกิน 376 เสียงนั้น ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก พรรคการเมืองใหญ่ ๆ ที่คาดว่าจะได้เสียงเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าหลังการเลือกตั้งจะมารวมกันหรือไม่ เพราะประชาชนที่สนับสนุนจะรอด่า ช่วงหาเสียงนี้ คงไม่มีพรรคใดกล้าประกาศอย่างแน่นอนว่าจะจับมือกัน ส่วนอีกฝากฝั่งพลเอกประยุทธ์นั้น แม้จะสามารถรวมคะแนนกับ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.250 เสียง แล้วได้เป็นรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถที่จะบริหารประเทศได้ เป็นความลักลั่นของกลไกรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ที่ตนเคยเสนอมาแล้วหลายครั้ง ให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกัน ตกลงกันว่า ให้ สว.เคารพเจตนารมณ์ของประชาชน โดยรอให้ สภาผู้แทนราษฎร เลือกนายกรัฐมนตรีก่อน แล้วจึงโหวตตาม แต่ในเมื่อไม่คุยกัน สว.ก็ไม่มีความหมายอยู่ดี จะพังด้วยกลไกเอง เพราะแม้จะชนะแต่ก็ปกครองไม่ได้ แพ้ไม่กี่วันก็ชนะ แต่ชนะก็อยู่ไม่ได้
ด้าน นายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำอีสานกู้ชาติ กล่าวว่า เราก้าวเข้ามาในวิกฤตสิบกว่าปีแล้ว ตนยอมรับว่า เป็นคน ๆ หนึ่งที่เข้ามาร่วม เป็นส่วนหนึ่งไม่มากก็น้อยที่ทำให้เกิดวิกฤตนี้ ตลอดระยะเวลากว่าสิบปี เราได้พิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้วว่า การรัฐประหาร ไม่ใช่วิถีทางแก้ปัญหาของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า เป็นความล้มเหลวของการรัฐประหาร ในทุก ๆ ด้าน และพิสูจน์แล้วว่า ที่ผ่านได้ทำทุกวิถีทางเพื่อสืบทอดอำนาจ โดยพฤติกรรมนี้ของพลเอกประยุทธ์ เป็นการซ้ำเติมให้เกิดวิกฤตของชาติมากขึ้นไปอีก ขยายความแตกแยกแบ่งฝักฝ่าย ทำให้เห็นว่า การแสดงเจตนารมณ์เข้าสู่อำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ ของพลเอกประยุทธ์ จะเป็นเงื่อนไขให้ประชาธิปไตยสะดุด สูญเสียประชาธิปไตยยาวนานไปอีก
นายไทกร กล่าวอีกว่า ตนเคยกล่าวไว้ว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามกฎหมาย ขาดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี แต่ประชาชนอย่างตนไม่ใช่ผู้ตัดสินว่าประเด็นดังกล่าวจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติหรือไม่ แต่ผู้ที่จะเป็นผู้วินิจฉัย นั่นคือ กกต. ตนไม่ทราบว่าจะสามารถวินิจฉัยประเด็นนี้ได้อย่างรวดเร็ว เที่ยงธรรม เหมือนการตัดสินพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่ แต่หากไม่สามารถวินิจฉัยด้วยมาตรฐานเดียวกันได้ ก็อาจจะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตในอนาคต รวมทั้งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้ควบคุมการเลือกตั้ง ไม่ได้ดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมอย่างแท้จริง