เมื่อเวลา 18.05 น. วันที่ 7 ก.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) จำนวน 4 ฉบับ ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 ร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 เพิ่มมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 เกี่ยวกับสิทธิชุมชน
ฉบับที่ 2 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48
ฉบับที่ 3 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง เกี่ยวกับที่มานายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ซึ่ง ทั้ง 3 ฉบับเป็นการเสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะ
และ ฉบับที่ 4 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 ซึ่ง สมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เป็นผู้เสนอ โดยภายหลังสมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายเสร็จสิ้น และให้ผู้เสนอญัตติสรุปปิดอภิปรายเสร็จสิ้น
จากนั้นเวลา 18.05 น. ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงขั้นตอนการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 ฉบับ ในขั้นรับหลักการวาระที่ 1 จะใช้วิธีการเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
โดยสมาชิกรัฐสภาทั้งสองสภาเท่าที่อยู่ในปัจจุบันมีจำนวน 727 คน แบ่งเป็น ส.ส. 477 คน ส.ว. 250 คน การลงมติเห็นชอบในวาระที่หนึ่งจะต้องมีสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง 364 เสียง และต้องมีเสียงของ ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือ 84 เสียง
เวลา 21.00 น. พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้แจ้งผลการลงมติ ปราฏว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพราะได้เสียง ส.ว.เห็นชอบน้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว. คือจำนวน 84 คน โดยผลการลงมติ มีดังนี้
ฉบับที่ 1 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่่อไทย แก้ไข มาตรา 43 สิทธิบุคคลและชุมชน
รับหลักการ 382
ไม่รับ 252
งดออกเสียง 28
ส.ว.รับหลักการ 40
ฉบับที่ 2 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย แก้ไข หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
รับหลักการ 346
ไม่รับ 299
งดออกเสียง 17
ส.ว.รับหลักการ 8
ฉบับที่ 3 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย แก้ไข มาตรา 159 วรรคหนึ่ง มาตรา 170 วรรคสอง ที่มานายกรัฐมนตรี มาจาก ส.ส.
รับหลักการ 346
ไม่รับ 292
งดออกเสียง 24
ส.ว.รับหลักการ 9
ฉบับที่ 4 สมชัย ศรีสุทธิยากร และภาคประชาชน 64,151 คน แก้ไขมาตรา 272 อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ
รับหลักการ 356
ไม่รับ 253
งดออกเสียง 53
ส.ว.รับหลักการ 23
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ลงมติไม่รับหลักการร่างฯ ทั้ง 4 ฉบับ โดยเฉพาะ ส.ว.ในสายทหาร มีบางรายที่ลงมติงดออกเสียงในฉบับที่ 4 และส่วนน้อยที่รับหลักการฉบับที่ 4 เช่น คำนูณ สิทธิสมาน , บรรชา พงศ์อายุกูล, ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ,คุณหญิง พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ,พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช
ขณะที่บางราย เช่น วันชัย สอนศิริ, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ,พิศาล มาณวพัฒน์ มณเฑียร, บุญตัน รับหลักการทั้ง 4 ฉบับ
ขณะที่ฝั่ง ส.ส.ที่รับหลักการทั้ง 4 ร่าง คือ พรรคฝ่ายค้าน ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึง ‘งูเห่า’ จากพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทยก็ลงมติเห็นชอบรับหลักการทั้ง 4 ฉบับ
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลัง ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 4 ฉบับ ส่วนพรรคขนาดเล็กลงมติแตกต่างกันไป
'สมชัย' ยินดี 'พปชร.-รวมพลัง' จับมือ ส.ว.คว่ำร่างตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ
ทั้งนี้ ระหว่างที่มีการลงคะแนนด้วยวิธีการขานชื่อในวาระที่1 สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะผู้ร่วมเสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสนอ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เป็นเรื่องดีที่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลัง ได้จับมือกับ ส.ว.ส่วนใหญ่ ไม่รับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี
"แสดงว่า พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลัง เป็นพรรคการเมืองที่เห็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีแต่เพียงลำพัง ต้องอาศัยวิจารณญาณของ สมาชิกวุฒิสภาด้วย ประชาชนจะได้จำแนกแยกแยะได้ถูก ว่า การเลือกตั้งคราวหน้า ควรเลือกพรรคไหนเข้าสภา"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง