ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินโดนีเซียได้ประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการ หลังจากได้จัดการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในโลกประชาธิปไตยที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากถึง 192 ล้านคน มีพื้นที่ประเทศขนาด 1.9 ล้านตารางกิโลเมตร ครอบคลุมเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 18,000 เกาะ การเลือกตั้งจึงยิ่งใหญ่และโกลาหลมาก ทั้งนี้  ผลปรากฏว่า ประธานาธิบดี โจโก วีโดโด หรือรู้จักกันในนาม “โจโกวี” ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2

อย่างไรก็ดี ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายผู้สนับสนุนคู่แข่งของโจโกวีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง แล้วได้ก่อการประท้วงผลการเลือกตั้ง โดยกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลว่าโกงการเลือกตั้ง นำไปสู่การจลาจลครั้งใหญ่ในกรุงจาร์กาตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย มีผู้บาดเจ็บ 200 กว่าราย และมีอาคาร รถยนต์ และทรัพย์สินของราชการถูกเผาทำลาย มีข่าวแพร่สะพัด���นโซเชียลมีเดียโจมตีฝ่ายรัฐบาลโจโกวีว่าสั่งตำรวจให้ใช้กระสุนจริงยิงประชาชน ในขณะที่ฝ่ายตำรวจยืนยันว่าไม่ได้ใช้ และคาดว่าที่เหตุการณ์บานปลายเพราะถูกแทรกแซงโดยผู้มีอาวุธไม่ทราบฝ่าย

เรื่องนี้ หากมองผิวเผิน จะดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลรังแกคู่แข่งและโกงจนคู่แข่งแพ้ แต่อันที่จริง การเลือกตั้งในอินโดนีเซีย คือ ภาพสะท้อนการต่อสู้ระหว่างฝ่ายนิยมประชาธิปไตยและฝ่ายนิยมเผด็จการทหาร ในประวัติศาสตร์การเมืองของอินโดนีเซีย 

000_ARP1417910.jpg

(ซูการ์โน ผู้นำการต่อสู้เรียกร้องเอกราชแห่งมาตุภูมิ)

ประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซียเริ่มต้นเมื่อ “ซูการ์โน” ผู้นำการต่อสู้เรียกร้องเอกราชแห่งมาตุภูมิ ได้ประกาศรวบรวมหมู่เกาะน้อยใหญ่ในทะเลชวาเป็นประเทศเดียวกันและเป็นเอกราชหลังจากเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์หรือฮอลันดายาวนานถึงสี่ร้อยกว่าปี ก่อตั้งเป็นประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 หลังกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองหมู่เกาะเหล่านี้จากเนเธอร์แลนด์พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองเพียง 2 วัน ดังนั้น “ซูการ์โน” จึงกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย และได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งชาติ” 

แต่ปรากฏว่าในปี ค.ศ. 1967 นายพลซูฮาร์โตผู้นำกองทัพได้ยึดอำนาจจากประธานาธิบดีซูการ์โน แล้วได้เป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซียในปี ค.ศ. 1968 ส่วนซูการ์โนผู้เป็นบิดาแห่งชาตินั้นถูกซูฮาร์โตสั่งให้จองจำไว้ในบ้านพักจนถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ.1970 ขณะอายุ 69 ปี

000_SAHK980906318600.jpg

นายพลซูฮาร์โต ผู้ครองอำนาจอยู่ถึง 32 ปี

ซูฮาร์โตปกครองประเทศอย่างยาวนาน ด้วยระบอบเผด็จการ มีกองทัพเสาค้ำจุนอำนาจและเป็นเครื่องมือในการสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน บางคราวทหารก็กลายเป็นเครื่องจักรสังหารกำจัดผู้คิดต่างและผู้ต่อต้านซูฮาร์โต ทำให้บ้านเมืองสงบราบคาบ ในยุคของซูฮาร์โตมีประชาชนถูกจับกุมและลงโทษหลายหมื่นรายเพราะต่อต้านเขา ในขณะที่ระบบราชการเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น และการเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้พวกพ้องและบรรดานายพลที่ใกล้ชิด เศรษฐกิจของประเทศดูเหมือนจะเติบโต แต่อันที่จริงความมั่งคั่งผูกขาดในมือเครือข่ายของซูฮาร์โตและพรรคพวกเท่านั้น ประชาชนยากจนแร้นแค้น ในขณะที่ชนชั้นสูงและบรรดานายพลร่ำรวยล้นฟ้า

แต่ในที่สุดเมื่อประเทศเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย หรือ วิกฤตต้มยำกุ้งที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง ในปี ค.ศ. 1997 รัฐบาลของซูฮาร์โตซึ่งเก่งเรื่องการทหารความมั่นคงแต่ด้อยความสามารถทางการบริหารเศรษฐกิจ ก็ถูกประชาชนลุกฮือต่อต้าน มีประชาชนหลายแสนคนเดินขบวนขับไล่ในกรุงจาร์กาตา และอีกหลายล้านลุกฮือตามเมืองน้อยใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศ นำไปสู่การนองเลือดครั้งใหญ่ที่มีประชนชนล้มตายพันกว่าคน จนในที่สุดกองทัพไม่สามารถรับมือได้ เพราะเหลือเพียงนายพลระดับสูงกับนายทหารลูกท่านหลานเธอที่ได้ผลประโยชน์จากระบอบซูฮาร์โตเท่านั้นที่ยังภักดีต่อเขา ส่วนบรรดาทหารยศเล็กยศน้อยที่เป็นลูกหลานคนธรรมดาซึ่งล้วนได้รับผลกระทบสาหัสจากสภาพเศรษฐกิจ ต่างไม่เอาซูฮาร์โต แล้วร่วมกับประชาชนขับไล่ซูฮาร์โต จนซูฮาร์โตตัดสินใจลาออกจากการเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1998

หลังจากนั้น รองประธานาธิบดียูซุฟ ฮาบีบี เป็นประธานาธิบดีแทน แล้วนำไปสู่การเลือกตั้งที่นำอินโดนีเซียสู่ประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกคือ อับดุลเราะห์มาน วาฮิด ใน ค.ศ.1999 และต่อมาบุตรสาวของ “ซูการ์โน” คือ เมกาวตี ซูการ์โนปุตรี ผู้นำพรรคพีดีไอพี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายกลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอินโดนีเซีย ใน ค.ศ.2001

000_APH2001072554461.jpg

ซึ่งยุคของรัฐบาลเมกาวตี เป็นยุคที่พยายามสร้างระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคง พยายามประนีประนอมทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายนิยมประชาธิปไตย ฝ่ายชนชั้นนำที่นิยมระบอบซูฮาร์โต และฝ่ายกองทัพ ผลปรากฏว่าประชาชนมองว่าเมกาวตีนุ่มนวลเกินไป ไม่มีการตัดสินใจที่เข้มแข็งเด็ดขาด ดังนั้น เมื่อถึงการเลือกตั้งรอบใหม่ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2004 ชัยชนะจึงตกอยู่กับอดีตนายพล คือ ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน จากพรรคเดโมแครต ซึ่งได้เป็นประธานาธิบดีติดต่อกันสองสมัย เพราะได้รับการยอมรับจากบรรดานายพลกับบรรดาผู้นำศาสนาอิสลาม และพยายามเอาใจฝ่ายนิยมประชาธิปไตยด้วยการสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีไม่ผูกขาดและการสนับสนุนสตรีให้มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี

นอกจากนี้ เขายังเอาใจบรรดาชนชั้นสูงด้วยการนอบน้อมกับซูฮาร์โตอย่างเปิดเผย ด้วยการที่เขาและภรรยาไปเยี่ยมซูฮาร์โต อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญอินโดนีเซียระบุให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้สองสมัยเท่านั้น เขาจึงไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2014 ซึ่ง “โจโกวี” อดีตผู้ว่าการกรุงจาร์กาตาชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย โดยฝ่ายนิยมประชาธิปไตยเทคะแนนให้เพราะหมั่นไส้ ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน และเจตนาทำให้บุคคลที่พรรคเดโมแครตสนับสนุนพ่ายแพ้

AFP-เลือกตั้งอินโดนีเซียครั้งใหญ่ 17 เม.ย.2562-โจโกวี

“โจโกวี” จากพรรคพีดีไอพี พรรคเดียวกับเมกาวตี ซูการ์โนปุตรี เขาเป็นฝ่ายนิยมประชาธิปไตยชัดเจน เป็นนักการเมืองที่มีภูมิหลังที่ทำให้ประชาชนชื่นชอบเขาได้โดยง่าย เพราะเขามาจากครอบครัวคนธรรมดาไม่ใช่ชนชั้นสูงหรือเป็นนายพลเก่าในกองทัพ มีบุคลิกภาพติดดิน มีอัธยาศัยไมตรีดีงามกับคนทั่วไป ในยุคที่เขาเป็นผู้นำ เขาสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ มีโครงการเศรษฐกิจแบบเสรีลดการผูกขาด ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีมากขึ้น อัตราความยากจนลดต่ำ อัตราการว่างงานลดต่ำ โครงการก่อสร้างถนนและสาธารณูปโภคในชนบทได้เกิดขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งพยายามดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาลงทุน

อย่างไรก็ดี “โจโกวี” ถูกฝ่ายนิยมเผด็จการทหารต่อต้านและโจมตีอย่างหนัก เนื่องจากโครงการทางเศรษฐกิจหลายอย่างของเขาที่เน้นการกระจายรายได้สู่ประชาชน ก่อให้เกิดการสูญเสียผลประโยชน์ของบรรดาชนชั้นสูงและนายพลที่เคยผูกขาดกอดกินผลประโยชน์มาตั้งแต่ยุคซูฮาร์โต พวกนี้จึงโจมตีว่าเขาทำลายเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ และการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเท่ากับเป็นการขายชาติ ให้ต่างชาติมาสูบความมั่งคั่งที่ควรเป็นของคนสัญชาติอินโดนีเซีย

โจโกวีพยายามไม่สนใจเสียงวิจารณ์จากคนเหล่านั้น แต่ก็พยายามประคับประคองรัฐบาลให้อยู่รอดไปได้ ด้วยการเอาใจกองทัพ เลี้ยงทหารในกองทัพให้อิ่ม ด้วยการให้กองทัพทำวิสาหกิจหากำไรได้ รวมทั้งให้ครอบครองสัมปทานบางอย่างได้ และเอาใจฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางศาสนาด้วยการมอบตำแหน่งสำคัญให้ผู้นำศาสนาอิสลามสายเคร่งจัดบางราย และทำเป็นเอาหูเอานาเอาตาไปไร่กับการลงโทษประชาชนด้วยข้อหาทางศาสนาโดยบรรดาผู้นำศาสนาอิสลามสายเคร่งจัดเหล่านั้น จนโจโกวีถูกวิจารณ์โดยบรรดานักสิทธิมนุษยชนและประชาชนหัวก้าวหน้าว่าเขาล้มเหลวในการลดสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซีย 

AFP-ปราโบโว ซูเบียนโต.jpg

พลโทปราโบโว ซูเบียนโต ตัวแทนของพลังอำนาจเก่าผู้นิยมทหาร

ในการเลือกตั้งปีนี้ คู่แข่งของโจโกวี คือคู่แข่งเก่าคนเดียวกับเมื่อการเลือกตั้ง ค.ศ.2014 คือ พลโทปราโบโว ซูเบียนโต ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของกลุ่มอำนาจเก่าคือฝ่ายนิยมเผด็จการทหารของซูฮาร์โต และมีบรรดาชนชั้นสูงและนายพลหลายคนในกองทัพที่เคยได้ประโยชน์จากระบอบเผด็จการของซูฮาร์โต รวมทั้งประชาชนที่นิยมซูฮาร์โตให้การสนับสนุน ทั้งนี้ บิดาของเขาคือรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประธานาธิบดีซูฮาร์โต และตัวเขาเองก็สมรสกับบุตรสาวคนที่สองของซูฮาร์โต นอกจากนี้ เขายังเคยเป็นผู้บัญชาการของกองกำลังพิเศษที่เรียกว่า “โกปาสซุส” (Kopassus) ซึ่งรับคำสั่งโดยตรงจากซูฮาร์โตดำเนินภารกิจทางการทหารรับใช้ซูฮาร์โต นั่นคือการบุกจับกุมและอุ้มหายบุคคลที่ต่อต้านซูฮาร์โต เมื่อระบอบซูฮาร์โตสิ้นสุดลง เขาเคยถูกดำเนินคดีในศาลในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายข้อหา แต่ก็หลุดรอดมาทุกคดี ซึ่งประชาชนลือกันว่าเพราะปาฏิหาริย์แห่งบารมีของเครือข่ายระบอบซูฮาร์โตที่ปกแผ่ไปถึงวงการตุลาการยังไม่จางหายไป

เมื่อ ผลการเลือกตั้งประกาศว่า พลโทปราโบโว ซูเบียนโต พ่ายแพ้แก่โจโกวี เป็นครั้งที่สอง เขาจึงปลุกระดมให้ประชาชนฝ่ายนิยมเผด็จการทหารของซูฮาร์โตและสนับสนุนเขา ทำการประท้วง และเผาทำลายทรัพย์สินของทางราชการ พร้อมๆ กับโจมตีโจโกวีอย่างรุนแรงในโซเชียลมีเดีย และประกาศว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลกับโจโกวีในข้อหาโกงการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้กองทัพเข้าข้างเขา

ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าข้างโจโกวี และวิจารณ์ว่าพลโทปราโบโว ซูเบียนโต แพ้แล้วพาลไม่ยอมแพ้ และคิดว่าหากเขาชนะเลือกตั้งก็อาจนำประเทศหวนคืนสู่ระบอบเผด็จการทหารอย่างระบอบซูฮาร์โต

ต้องจับตาดูว่า กองทัพของอินโดนีเซีย จะยึดมั่นในแนวทางเป็นทหารอาชีพส่งเสริมประชาธิปไตยเคียงข้างประชาชน หรือทรยศประชาชน แล้วย้อนเวลาพาประเทศกลับสู่ยุคมืดเหมือนยุคระบอบเผด็จการทหารของซูฮาร์โต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: