ไม่พบผลการค้นหา
ขาดยารักษาโรค ไม่มีอุปกรณ์การแพทย์ ไฟฟ้ามีใช้ไม่เพียงพอ หวังพึ่ง IMF แต่ต้องเสนอแผนใช้หนี้ที่ 'ยั่งยืนมากพอ'

สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 74 ปีที่แล้วกำลังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กระทบชีวิตของผู้คนที่ต้องหวังเพิ่งแพทย์และพยาบาลผู้ซึ่งชี้ว่าระบบกำลังจะล่มสลายเต็มที

สำนักข่าว CNN รายงานว่า แพทย์และพยาบาลในศรีลังการของบางโรงพยาบาลเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหนักจนต้อง 'ล้างอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้ซ้ำ' รวมถึงการ 'ผ่าตัดโดยพึ่งแสงไฟจากโทรศัพท์มือถือ' ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากการขาดแคลนยารักษาโรคเพราะนำเข้าไม่ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าวิกฤตกำลังไต่ระดับความรุนแรงขึ้น

"ไม่ว่าจะโรงพยาบาลรัฐ ร้านขายยา หรือบริษัทผู้นำเข้า ไม่มีใครมียาที่ผมต้องการเลย" ผู้เป็นพ่อของเด็กวัย 7 ขวบคนหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าว CNN ว่าเขาไม่สามารถหายามารักษาโรคมะเร็งเนื้อเยื่อประสาท (Neuroblastoma) ที่ลูกชายกำลังเผชิญอยู่ได้ และหวั่นใจอย่างหนักว่าลูกกำลังจะเสียชีวิตในไม่ช้า


หยุดผ่าตัด รักษาเฉพาะเคสฉุกเฉิน แย่กว่ายุค 'สงครามกลางเมือง'

สมาคมแพทย์ศรีลังกา (SLMA) ออกแถลงการณ์ว่าขณะนี้โรงพยาบาลทั่วประเทศกำลังขาดแคลนยาฉุกเฉิน (Emergency Drug) และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จนทำให้โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งมีคำสั่ง "ยกเลิกการผ่าตัดทั่วไปและการตรวจแล็บ" เพราะการขาดแคลนยาชาและสารตัวกระทำปฏิกิริยาที่ต้องใช้ในแล็บ

ดร.นิชาน จากโรงพยาบาลทางตะวันออกกล่าวกับ BBC ว่า ทางโรงพยาบาล "อาจต้องยุติการผ่าตัดส่วนใหญ่ทั้งหมดใน 2 สัปดาห์ และรับเฉพาะเคสฉุกเฉินก่อน ... ผมเคยทำงานในยุคสงครามกลางเมือง แต่ตอนนั้นเรายังมีของจำเป็นส่งมาจากกระทรวงสาธารณสุขเสมอ ซึ่งตอนนี้แม้แต่กระทรวงฯ ก็ไม่มีของให้"

ด้านสมาคมเวชศาสตร์ปริกำเนิดแห่งศรีลังกา (Perinatal Society of Sri Lanka) ก็มีคำสั่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาให้แพทย์พยาบาล "นำท่อนำส่งออกซิเจนกลับมาล้างแล้วใช้ใหม่สำหรับเด็กแรกเกิด" เพราะกำลังขาดแคลนเข้าขั้น 'วิกฤตหนัก'

"ระบบสาธารณะสุขจะล่มสลายถ้ายังไม่มีความช่วยเหลือเข้ามาโดยทันที" เลขาธิการสมาคมผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ศรีลังกากล่าวกับ BBC

เขายังระบุอีกด้วยว่าหากยังไม่มีการเติมสต็อกยารักษาโรคเร็วๆ นี้ บุคลากรทางการแพทย์อาจไม่สามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยได้อีกต่อไป และศรีลังกาจะได้รับผลกระทบที่เลวร้ายมาก


ทางออกวิกฤต มุ่งหน้าขอความช่วยเหลือ IMF?

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ ศรีลังกามีการนำเข้ายารักษาโรคและอุปกรณืทางการแพทย์เป็นสัดส่วนมากถึง 85% แต่ด้วยสถานการณ์เงินทุนสำรองระหว่างประเทศขาดแคลน เงินเฟ้อเลวร้ายเป็นประวัติการณ์ เป็นไปได้ยากที่ศรีลังกาจะนำเข้ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้ามาได้ทันท่วงที

อาลี ซาบรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ของศรีลังกาที่เข้ามาสู้ศึกหนักในวิกฤตคราวนี้ ได้เดินทางพร้อมสมาชิกรัฐบาลไปยังกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ เพื่อหารือทางออกด้วย 'แพ็คเกจใหญ่' หรือเงินกู้มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 134,662 ล้านบาท จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF โดยหวังนำเงินมาชำระหนี้ระหว่างประเทศ เพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และนำเข้าสินค้าและข้าวของสำคัญจำเป็นที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก

Al Jazeera อธิบายว่าสมาชิก IMF สามารถกู้เงินฉุกเฉินได้สูงสุด 50% ของโควตาที่ประเทศหนึ่งๆ จะได้รับต่อปี โดยในกรณีของศรีลังกานั้นสามารถกู้ได้สูงสุดที่ 395 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีข้อแม้สำคัญที่สุดว่ารัฐบาลจะต้องปรับโครงสร้างหนี้และนำเสนอ 'แผนการชำระหนี้คืนที่ยั่งยืน' ให้กับทาง IMF เพื่อพิจารณา ซึ่งขณะนี้ดูจะเป็นความท้าทายใหญ่ของศรีลังกาเพราะเดือนที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ของ IMF ประเมินว่า "ยังไม่ยั่งยืนมากพอ"