พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นโบราณราชประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน เพื่อการเสด็จขึ้นครองราชย์โดยสมบูรณ์ของพระมหากษัตริย์ไทย โดยอีกหนึ่งพระราชพิธีที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ คือการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 94 ปี นับตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
สำหรับพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ตามโบราณราชประเพณีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพระราชอิสริยยศ เป็นขบวนพยุหยาตรา ทั้งทางสถลมารค (ทางบก) และทางชลมารค (ทางน้ำ) เพื่อให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแสดงความจงรักภักดี
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในวันที่ 5 พ.ค. โดยเสด็จฯ ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ส่วนการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีขึ้นหลังการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562
สำหรับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ถือเป็นริ้วขบวนที่ 3 ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งประกอบไปด้วยกำลังพล 1,366 นาย จาก 13 หน่วยงาน การจัดขบวนทำตามเป็นแบบโบราณราชประเพณี ผู้ร่วมในริ้วขบวนแต่งกายตามแบบโบราณ เว้นทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์แซงเสด็จฯ ทหารรักษาพระองค์ในขบวนทหารเกียรติยศนำและตาม ราชองครักษ์ในพระองค์คู่เคียง ที่สวมเครื่องแบบเต็มยศ เครื่องสูงธงโบราณงดงามสมพระเกียรติ
สำหรับส่วนของชุดแบกหามพระราชยานพุดตานทอง เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในริ้วขบวน กำหนดให้ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เป็นเจ้าพนักงานแบกหามพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง 16 นาย จัด 5 ผลัด เปลี่ยนแบกหามทุก 500-800 ม. ใช้การเปลี่ยนคนแบกหามขณะเคลื่อนที่ โดยไม่หยุดขบวน
นอกจากนี้ ยังมีพนักงานถือม้ารองพระที่นั่งทรง เจ้าพนักงานอินทร์ พรหม เชิญทวน แถวทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์แซงเสด็จ สำหรับขบวนหลัง ประกอบด้วย วงดุริยางค์ และกองพันทหารเกียรติยศตามเสด็จฯ ร.11 รอ. รถยนต์พระที่นั่ง รถพยาบาล ซึ่งริ้วขบวนที่ 3 นี้มีความยาวเกือบ 500 เมตร
เวลา 16.30 น. ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พยุหยาตราทางสถลมารค เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับบนพระที่นั่งพุดตานทอง ยาตราออกจากพระบรมมหาราชวัง โดยลักษณะการเดินเป็นแบบกึ่งสวนสนาม ตามจังหวะดนตรีเพลงพระราชนิพนธ์ 6 เพลง ที่บรรเลงโดยวงดุริยางค์ ประกอบด้วย มาร์ชราชวัลลภ ยามเย็น ใกล้รุ่ง สรรเสริญเสือป่า สรรเสริญพระนารายณ์ และมาร์ชธงไชยเฉลิมพล
โดยริ้วขบวนจะยาตราไปยังวัดบวรนิเวศวิหารเป็นจุดแรก จากนั้นยาตราสู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธปฏิมาประธาน และพระบรมราชสรีรางคาร ซึ่งการเลียบพระนครครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เข้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประทับพักที่พระที่นั่งราชกรัณยสภา ได้เวลาสมควร เสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ที่มา : https://www.m-culture.go.th/mculture_th60/download/pramuan_king.pdf