บรรดาผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศ (แชโบล) ได้พร้อมใจกันเรียกร้องให้ มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ อภัยโทษต่อ อีแจยอง (Lee Jae-yong) รองประธานบริษัทซัมซุง อิเลคโทรนิกส์ วัย 52 ปี ผู้เป็นทายาทของอีคุนฮี (Lee Kun-hee) อดีตซีอีโอและประธานใหญ่แห่งกลุ่มธุรกิจซัมซุง ซึ่งล่วงลับไปเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยอีแจยอง ถือเป็นผู้จ่อขึ้นกุมอำนาจธุรกิจของซัมซุงกรุ๊ปต่อจากผู้เป็นบิดา ทว่าเวลานี้เขากำลังถูกดำเนินคดีจำคุกในหลายข้อหาทั้งจ่ายสินบน ยักยอกทรัพย์ ซุกหุ้น และความผิดอื่นๆ อีกหลายกระทง
รายงานระบุว่าในระหว่างงานเลี้ยงอาหารกลางวันกับผู้นำองค์กรธุรกิจ ผู้นำของอาณาจักรธุรกิจหลัก 4 แห่ง ประกอบด้วย ซัมซุง ฮุนได แอลจี และ เอสเค ได้เรียกร้องให้ผู้นำเกาหลีใต้อภัยโทษและปล่อยตัวอีแจยอง โดยอ้างเหตุผลว่า การจับกุมคุมขังทายาทซัมซุงในขณะนี้ จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศในฐานะที่เกาหลีใต้เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกสำหรับการผลิตซิปเซ็ตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
เชแตวอน ประธานของกลุ่มเอสเค (SK Group) หนึ่งในสี่ผู้นำองค์กรที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวทายาทซัมซุง รวมถึงหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเกาหลี ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่นายอีจะต้องเป็นอิสระ เพื่อรักษาตำแหน่งของเกาหลีใต้ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ท่ามกลางปัญหาชิปเซ็ตขาดแคลนทั่วโลก
ในเวลานี้นายอีกำลังถูกจำคุกในเรือนจำนานเกือบ 4 เดือนแล้ว หลังจากความผิดในข้อหายักยอกทรัพย์และซุกหุ้น หลังจากก่อนหน้านี้เขาได้รับการปล่อยตัวได้เพียงไม่นานจากความผิดในคดีอื่น โดยจากคำตัดสินของศาลเกาหลีใต้ นายอีมีกำหนดรับโทษจำคุกไปจนถึงกรกฎาคม ปี 2565 แต่จากข้อเรียกร้องดังกล่าว หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าประธานาธิบดีเกาหลีใต้อาจใช้โอกาสช่วงวันประกาศอิสรภาพในเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่เกาหลีได้รับอิสรภาพจากจักรวรรดิญี่ปุ่น ในการอภัยโทษปล่อยตัวเขาเป็นอิสระจากเรือนจำ แต่เรื่องดังกล่าวยังคงไม่มีความชัดเจนจากทำเนียบประธานาธิบดี โดยโฆษกประจำทำเนียบบลูเฮาส์เผยเพียงว่า ปธน.มุน จะพิจารณาทั้งในแง่การแข่งขันในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ และในแง่ความรู้สึกสาธารณชนเกี่ยวกับความยุติธรรมก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะอภัยโทษนายอีหรือไม่
อีแจยอง มีฉายาว่าเป็น ผู้บริหารหลังลูกกรงเหล็ก จากการที่แม้เขาจะถูกคุมขังแต่มีเหล่าผู้บริหารระดับสูงของซัมซุงเดินทางเข้ามาติดต่อในเรือนจำเพื่อหารือขอการตัดสินใจในเรื่องสำคัญเป็นระยะๆ ซึ่งนอกจากบรรดาผู้บริหารเอกชนรายใหญ่ของเกาหลีใต้จะร้องขอการอภัยโทษนายลีแล้ว ยังมีบรรดาผู้มีชื่อเสียงในสังคมเกาหลีใต้จากหลากหลายวงการ ทั้งบรรณาธิการสื่อหนังสือพิมพ์ พระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงต่างเขียนจดหมายถึงยังผู้นำเกาหลี ให้ปล่อยตัวนายอีจากเรือนจำ เนื่องจากความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจเพราะเศรษฐกิจเกาหลีใต้พึ่งพาการส่งออกและอุตสาหกรรมในเครือซัมซุงอย่างมหาศาล หลายฝ่ายวิตกว่าการจำคุกทายาทผู้กุมอำนาจบริษัทใหญ่ที่สุดของประเทศรายนี้ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฮเทคของแดนกิมจิ และอาจบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมชั้นสูงต่อชาติอื่นๆ อย่างญี่ปุ่น หรือไต้หวัน
ที่มา: Reuters