ศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 แกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้แก่ นายสกลธี ภัทธิยกุล นายเสรี วงษ์มณฑา นายสมบัติ ธำรงค์ธัญญาวงศ์ และนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เป็นจำเลย ในคดีความผิดฐานร่วมกันก่อการกบฏ มั่วสุม สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง
ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักไม่เพียงพอว่า จำเลยทั้ง 4 มีเจตนากระทำความผิดจริง แต่เป็นการชุมนุมทางการเมืองตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาล ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีผลย้อนหลังไปถึงปี 2547
คดีนี้ พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม แกนนำ กปปส. , นายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม. นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และสภาปฏิรูปการเมือง (สปช.) และ นายเสรี วงศ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ , กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ ,อั้งยี่ ,ซ่องโจร , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ ,เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้นแต่ไม่เลิก,ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างเพื่อบังคับรัฐบาล ,ร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ,116,117,209,210,215, 362, 364,365 และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ,ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มา ซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76 ,152 รวม 8 ข้อหา
โดยคดีสำนวนแรกนี้ อัยการยื่นฟ้อง ตั้งแต่ปี 2557 กรณีสืบเนื่องจากการร่วมชุมนุมกันของ กปปส.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้นำการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556–1 พ.ค. 2557 ซึ่งมีการพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งท้ายคำฟ้องอัยการโจทก์ยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของจำเลยด้วยมีกำหนด 5 ปี
ขณะที่จำเลยทั้ง 4 รายให้การปฏิเสธทุกข้อหาพร้อมตั้งทนายความสู้คดี ระหว่างพิจารณาคดีจำเลยทั้งสี่ก็ได้รับการปล่อยชั่วคราว ซึ่งคดีเริ่มสืบพยานตั้งแต่ปี 2558-2562
"สกลธี" ขอบคุณทุกกำลังใจ รับที่ผ่านมาใช้ชีวิตค่อนข้างลำบาก
ด้านนายสกลธี กล่าวขอบคุณทุกกำลังใจที่สนับสนุน ซึ่งจำเลยทั้ง 4 คนก็รู้สึกดีใจ เพราะคดีนี้ต่อสู้ในชั้นศาลมาร่วม 5 ปีกว่า ค่อนข้างลำบากในการใช้ชีวิตพอสมควร แต่จำเลยทุกคนยึดถือเหมือนกัน คือการเคารพกระบวนการยุติธรรม มีการลาไปต่างประเทศก็กลับมาตรงกำหนดนัดทุกครั้ง และคดีนี้ที่ศาลยกฟ้องมีมูลพื้นฐานมาจากการที่ศาลมองว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ปี 2556-2557 อยู่ภายใต้ข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยในส่วนนี้ไว้แล้ว ประกอบกับการเดินทางไปในที่ต่างๆของกลุ่มผู้ชุมนุมเอง เป็นการเดินทางไปด้วยความสงบ อหิงสาและสันติ ไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลมองเห็นและได้มีคำวินิจฉัยในวันนี้
"สุเทพ" ชี้ คนไทยต้องช่วยกันรักษาศาลสถิตยุติธรรมไว้
ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ระบุว่า ในฐานะเลขาธิการ กปปส. ซึ่งได้ร่วมต่อสู้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ รู้สึกกังวลมาโดยตลอดในการต่อสู้คดี เพราะจำเลยทุกคนมีภาระหน้าที่ บ้างเป็นอาจารย์ เป็นสื่อมวลชนหรือทำงานการเมือง แต่ทุกคนก็สู้คดีด้วยความเด็ดเดี่ยว ยืนหยัดความเป็นจริงและนำความจริงทั้งหลายมาพิสูจน์ในศาลสถิตยุติธรรม ท่ามกลางความเป็นห่วงกังวลของพี่น้องมวลมหาประชาชน กปปส.ทั้งหลาย และกว่าที่จะมาถึงวันนี้ที่ศาลมีคำพิพากษา ส่วนตัวคิดว่าทำให้พี่น้องที่รักษาพื้นแผ่นดินมีความภูมิใจ ได้เห็นว่าการทุ่มเททำงานเพื่อบ้านเมือง แม้จะต้องเหนื่อยยากลำบากและจะต้องได้รับผลในการทำงานหรือคราวนั้นไป 4-5 ปี ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมประเทศไทยทุกอย่างเป็นไปตามระบบ และเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยควรจะช่วยกันดูแลรักษาไว้
นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า ยังไม่ทราบว่าอัยการจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ และจากนี้จะนำเนื้อหาสาระของคำพิพากษาที่สมบูรณ์ไปศึกษารายละเอียด แต่จากการตัดสินของศาลวันนี้ ที่อ้างคำที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้หลายครั้งหลายหน เหมื่อปี 2556-2557 ว่า ทำให้เห็นแนวทางต่อสู้คดีของแกนนนำ กปปส.ที่เหลือซึ่งเป็นชุดใหญ่ แต่ถ้าการกระทำของผู้ชุมนุมไปทำผิดกฎหมายอาญาอย่างอื่น ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีความรับผิดอยู่ดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :