ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากเวลา 23.00 น.วันที่ 31 ม.ค. อังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU) อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงหลายประการ แต่กฎหรือเงื่อนไขบางอย่างยังคงผ่อนผันให้ดำเนินต่อไปได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 11 เดือนต่อจากนี้

สมาชิกรัฐสภายุโรป (MEP) ลงมติรับรองข้อตกลงเบร็กซิตของรัฐบาลอังกฤษเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2563 โดยมีผู้เห็นชอบ 621 เสียง คัดค้าน 49 เสียง และงดออกเสียง 13 เสียง ทำให้อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรปตั้งแต่ 23.00 น.วันที่ 31 ม.ค.เป็นต้นไป ซึ่งสื่อหลายสำนักเรียกว่าเป็นการ 'หย่าขาด' ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป (อียู) หลังจากที่มีสัมพันธ์กันมายาวนานกว่า 47 ปี

เว็บไซต์ The Guardian สื่อของอังกฤษรายงานว่า หลังสิ้นสุดการลงมติ สมาชิกรัฐสภายุโรปจาก 28 ประเทศ ร่วมกันร้องเพลงโอลด์ แลง ซายน์ ที่เป็นเพลงแห่งการอำลา และ 'อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน' ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่และ ส.ส.อังกฤษที่ทำงานร่วมกับอียูมาโดยตลอด รวมถึงบุคลากรที่ทุ่มเทกำลังเพื่อความมั่นคงและการเจริญเติบโตของอียูในอดีต ทั้งยังอวยพรประชาชนและ ส.ส.อังกฤษเกือบทุกคน

จนกระทั่ง 'ไนเจล ฟาราจ' หัวหน้าพรรคเบร็กซิตของอังกฤษ หัวหอกในการเรียกร้องให้อังกฤษแยกตัวจากยุโรปในการลงประชามติเมื่อปี 2016 ทั้งยังเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภายุโรปของอังกฤษชุดสุดท้าย กล่าวในที่ประชุมว่า การแยกตัวของอังกฤษครั้งนี้จะไม่มีการย้อนกลับมาแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 11 เดือนต่อจากนี้จะถูกเรียกว่า 'ระยะเปลี่ยนผ่าน' ซึ่งเงื่อนไขในการจัดการความสัมพันธ์และการเคลื่อนบ้านประชากรระหว่างอังกฤษและอียูจะได้รับการผ่อนผันในระดับหนึ่ง เพ่ือเตรียมความพร้อมให้แก่ประชากรของทั้งสองฝ่ายรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น


อะไรเปลี่ยน-อะไรยังเหมือนเดิม (ไปอีกระยะหนึ่ง)

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ในระยะที่เรียกว่า 'ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน' หลังจากวันที่ 31 ม.ค.นี้ อังกฤษจะยังปฏิบัติตามเงื่อนไขของอียูในด้านเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายประชากรต่อไปอีก 11 เดือน โดยชาวอังกฤษที่เดินทางไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป จะยังสามารถใช้ช่องทางตรวจคนเข้าเมืองสำหรับพลเมืองประเทศอียูได้อีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะถึงกำหนดสิ้นสุระยะเปลี่ยนผ่าน ประมาณวันที่ 31 ธ.ค.2020 

AP-เบร็กซิต-เบรกซิท-Brexit-อังกฤษ-อียู-ถอนตัว-สหภาพยุโรป-ธงอียู

ส่วนใบขับขี่ระหว่างประเทศ หนังสือเดินทางของสัตว์เลี้ยง บัตรประกันสุขภาพอียู การทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศอียู ยังได้รับการผ่อนผันไปอีก 11 เดือน ชาวอังกฤษที่มีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทั้งหมดนี้จะยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติต่อไปได้ 

สิ่งที่จะไม่เหมือนเดิม ได้แก่ ส.ส.ของอังกฤษจะไม่มีที่นั่งในรัฐสภายุโรปอีกต่อไป ตัวแทนรัฐบาลอังกฤษไม่ต้องเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอียู ส่วนหนังสือเดินทางของอังกฤษจะเปลี่ยนจากสีน้ำเงินแบบเดียวกันกับของประเทศสมาชิกอียู กลายเป็นสีแดงไวน์ 

ประเด็นที่รัฐบาลอังกฤษจะต้องเดินหน้าเจรจากับประเทศอื่นๆ เป็นอันดับแรกหลังจากแยกตัวจากอียู ก็คือการผลักดันข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรอบทวิภาคีหรือพหุภาคีก็ตาม เพราะสิทธิพิเศษที่อังกฤษเคยได้รับในสมัยที่เป็นสมาชิกอียูจะถูกยกเลิกไปเมื่อสิ้นสุดระยะผ่อนผันของช่วงเปลี่ยนผ่าน

นอกจากนี้ กิจการของรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องเบร็กซิตก็จะถูกยุบไป และกรณีที่อังกฤษต้องการขอให้ประเทศสมาชิกอียูบางประเทศส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาให้ ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป แต่จะต้องไปเจรจาเรื่องข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันใหม่กับแต่ละประเทศ แต่ในระยะ 11 เดือนที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน อังกฤษและสมาชิกอียูยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของอียูต่อไปก่อน

ที่มา: BBC/ The Guardian/ Nature/ THE