ไม่พบผลการค้นหา
อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ทางออกของปัญหา ม.112 คือต้องดึงนักการเมืองให้เดินทันมวลชน

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 เครือข่าย People Go Network จัดกิจกรรมเสวนาหน้าศาล จากศาลอาญารัชดา ในหัวข้อ "มาตรา 112 กับการรณรงค์ยกเลิก" ร่วมสนทนาโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw และ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 

พวงทองเริ่มต้นโดยกล่าวถึง สเตตัสที่เคยเขียนบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องการมีจุดยืน ที่ต่างจากอำนาจรัฐของศาลในต่างประเทศว่า เรามักเคยได้ยินประชาชนด้วยกันเรียกร้องกันเองว่าให้ทุกคนที่เห็นต่างกัน อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องฆ่าแกงกัน การเรียกร้องลักษณะนี้กับคนที่ถืออำนาจดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะเรากำลังบอกให้พวกเขาเลิกคิดว่า จะปกป้องระบบระบอบโดยไม่สนใจประชาชน

โดยสามัญสำนึกข้อเรียกร้องนี้อาจดูเป็นเรื่องพื้นฐาน และไม่น่าใช่เรื่องที่เข้าใจยาก แต่สำหรับกลไกรัฐอย่างกระบวนการยุติธรรมมันคือเรื่องที่ยากเพราะพวกเขาถือว่าตัวเองคือกลไกสำคัญที่จะพิทักษ์ไว้ซึ่งระบบ ระบอบ พิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐ ซึ่งในทางหนึ่งการคงอยู่ของระบบระบอบเหล่านี้คือสิ่งที่ประกันชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขาเอง


โลกคู่ขนานทางแนวคิด

การเรียกร้องให้คนในกระบวนการยุติธรรมเห็นต่างจากรัฐหรืออำนาจอื่น เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สำหรับคนในกระบวนการยุติธรรมก็คงเป็นเสมือนการเรียกร้องให้พวกเขา เป็นขบถซึ่งคงยากที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อคนในกระบวนการยุติธรรมไม่มีความกล้าหาญนั้น สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกกดทับอยู่เรื่อยไป ในสังคมใหญ่เราเจอกับกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างจากเราแบบสุดขั้ว มองทุกอย่างต่างกันชนิดที่เหมือนกับเราอยู่ในโลกคู่ขนานหรือโลกคนละใบ ในห้องพิจารณาคดีก็เหมือนกัน มันเป็นเสมือนโลกขนานที่ถูกย่อส่วนลง 

ซึ่งคงไม่แปลกที่เมื่อกฎหมายมาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง เมื่อมีคนวิจารณ์สถาบันฯก็ถือว่าไปกระทบกับความมั่นคง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ต้องสนใจว่าสิ่งที่เขาพูดจะเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ดังเช่นกรณีของเอกชัยที่ถูกดำเนินคดี เพราะขายซีดีสารคดีจากต่างประเทศกับเอกสารของวิกิลีกส์ 


ลักษณะพิเศษของกฎหมาย 112 

เอกชัยเคยขอให้เรียกตัวองคมนตรีมาเป็นพยานในศาล เพื่อยืนยันว่าเขาพูดกับทูตดังที่เอกสารวิกิลีกส์ระบุหรือไม่ ศาลก็บอกว่าไม่ต้องสืบในประเด็นนั้นเพราะสิ่งที่พูดต่อให้จริงก็ผิดกับคดีมาตรา 112 ข้อเท็จจริงดูจะไม่สำคัญแม้ว่ามันจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสาธารณะก็ตาม เพราะในทรรศนะของรัฐการวิจารณ์สถาบันถือสิ่งที่อันตรายที่สุด การฆ่าคนอาจทำให้คนคนหนึ่งหรือคนหลักสิบคนตาย แต่การวิจารณ์สถาบันที่รัฐมองว่าเป็นอาชญากรรมทางความคิด อันตรายกว่าเพราะคุณอาจเปลี่ยนคนหลักร้อยหลักพันได้ ระบอบจะอยู่ไม่ได้หากคนเลิกจงรักภักดี เราจึงได้เห็นสถานะพิเศษของมาตรา 112 

ในขณะที่กฎหมายอื่นคุณจะเป็นเป็นผู้บริสุทธิก่อนถุกพิสูจน์ว่ามีความผิด แต่กับมาตรา 112 แค่พูดออกมาหรือแสดงออกมามันก็ผิดไปก่อนแล้ว จึงไม่แปลกที่เขาจะกำหนดเงื่อนไขประกันตัวในลักษณะว่าห้ามทำอีก ก็เพราะเขาตัดสินไปแล้วว่าสิ่งที่ทำมันผิด ขณะที่กรณีของกปปส.แม้จะถูกตัดสินว่ามีความผิดแต่ก็ได้ประกันตัวเพราะถูกมองว่าเป็นการก่อความวุ่นวายแต่ไม่เป็นอันตรายเพราะเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาระบอบเดิม


เป็นเรื่องยากที่ศาลรับฟังเสียง

พวงทอง ระบุอีกว่าการชุมนุมหน้าศาลที่เกิดขึ้นในวันนี้ หรือการวิพากษ์วิจารณ์ศาลที่เกิดขึ้นเป็นระยะก่อนหน้านี้ นับเป็นความพยายามที่ดีแต่คงยากที่ศาลจะฟัง ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ของอดีตผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ที่เคยแสดงเพื่อสะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ปรากฎว่าเขาถูกโดดเดี่ยวโดยเพื่อนร่วมอาชีพ ไม่มีใครออกมาปกป้องเขา จนสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายอีกครั้งจนสำเร็จ ซึ่งการกระทำอย่างเด็ดเดี่ยวของเขา มันก็คือการประจานระบบยุติธรรมให้อาย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าระบบยุติธรรมจะอายจริงไหม

การเปลี่ยนแปลงภายในของกระบวนการยุติธรรมคงไม่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด การกระทำของผู้พิพากษาคณากร รวมถึงการอดอาหารรวมถึงการยืนหยุดขังที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นความพยายามในการ shaming กระบวนการยุติธรรม แน่นอนเราไม่อาจหวังได้ว่าคนในกระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลง เราเห็นบทเรียนในอเมริกาใต้ ที่ตอนเผด็จการทหารในอาร์เจนตินาเรืองอำนาจ ศาลก็เป็นกลไกรับใช้ที่สำคัญ กระทั่งเมื่อเผด็จการพ้นจากอำนาจ เพราะไม่สามารถจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจได้ 

ศาลก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีจนนำไปสู่การนำเอาทหารที่เกี่ยวข้อง กับการเข่นฆ่าอุ้มหายประชาชนมาลงโทษ แต่แน่นอนไม่มีคนในกระบวนการยุติธรรมที่เคยเป็นเครื่องมือของเผด็จการทหารถูกลงโทษ จึงเชื่อว่าในกรณีของไทยหากการเมืองเปลี่ยน คนในกระบวนการยุติธรรมที่หูไวตาไวก็จะเปลี่ยนท่าทีไปและแน่นอนท้ายที่สุดอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆถูกลงโทษ จากการละเมิดสิทธิประชาชนแต่คงไม่มีคนในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกลงโทษไปด้วย 


นักการเมืองต้องกล้าพูดเรื่อง ม.112 

เมื่อพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาหรือความเป็นไปได้ ในการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 พวงทองระบุว่าก่อนหน้านี้ ครก.112 เคยมีความพยายามที่จะเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และก็สามารถรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนร่างกฎหมายได้มากกว่า 20,000 คน แต่ปรากฎว่าสภาก็ปัดตกทันที แต่ถึงกระนั้นกลไกในสภาก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยสันติ สิ่งหนึ่งที่จะพอทำได้คือต้องสนับสนุนพรรคการเมือง และนักการเมืองที่กล้าที่จะพูดหรือผลักดันการแก้ปัญหา 

ส่วนคนที่สนับสนุนพรรคการเมืองอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพรรคที่สนับสนุน แต่สิ่งที่ทำได้คือเรียกร้องให้นักการเมืองก้าวหน้าขึ้นมาทัดเทียมกับประชาชนอย่างสมัยคนเสื้อที่แดง คนเสื้อแดงเองก็ดูจะมีความก้าวหน้า กว่านักการเมืองพรรคเพื่อไทย นอกจากนั้นการหาความพยายามที่จะพูดคุยกับคนที่อยู่ใน "โลกคู่ขนาน" ก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย ซึ่งทางหนึ่งก็ต้องสื่อสารให้เขาเห็นว่าประเด็นของสถาบันฯ กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ 

อย่างกรณีงบปกป้องหรือส่งเสริมสถาบันที่หน่วยราชการ มักนำไปทำกิจกรรมหรือสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติต่างๆ ซึ่งมีกฎว่าต้องไม่ให้ชำรุดหรือเก่า เปิดช่องให้มีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง บางทียังไม่ทันเก่าหรือชำรุดก็เบิกงบมาซื้อใหม่ งบเหล่านี้จึงเพิ่มขึ้นทุกปีๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงช่วงเวลา ที่ประชาชนประสบปัญหาอย่างเช่นช่วงเวลานี้ หากสามารถวิจารณ์เรื่องเหล่านี้ได้อย่างตรงไปตรงมาก็ย่อมส่งผลกระทบในทางบวกต่อประชาชน แต่ก็ยอมรับว่าการไปคุยกับคนในจักรวาลคู่ขนาน คงไม่ง่ายและต้องใช้เวลา