ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภาถกเข้ม รมช.สธ. 3 ปมถ่ายโอน รพ.สต. แนะชะลอก่อนกระทบประชาชน ชงทุกฝ่ายร่วมหารือ ชูสูตรปฏิรูปนำ เล็งชงนายกฯทบทวนใหม่ ด้าน ‘สาธิต’ หวั่นถ่ายโอนช่วงโควิด อาจเกิดอุปสรรค

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 ก.พ. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ 401 (ฝั่ง สว.) รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) สาธารณสุข วุฒิสภา ที่มี นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. เป็นประธาน กมธ. มีวาระการพิจารณาแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในด้านการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อาทิ การบริหารจัดการภารกิจงบประมาณ และบุคลากร รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญ สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เข้าร่วมหารือ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ระบุว่าไม่ได้ขัดขวางการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. แต่เล็งเห็นว่า การดำเนินการถ่ายโอนโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา 3 ประเด็น ดังนี้ 1) การตีความการดำเนินการตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด อาจเข้าข่ายตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในหลายประเด็น เช่น การถ่ายโอนได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่ การดำเนินการตามพ.ร.บ.เมื่อปี 2542 ที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการวางกรอบให้การดำเนินการต้องสอดคล้องกับหมวดปฏิรูปประเทศ หรือไม่  2) ด้านการบริหารจัดการงบประมาณให้ รพ.สต. จะเบิกจากผ่านหน่วยงานใด เนื่องจากเดิมผู้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้บุคลากรในสังกัด รพ.สต. จะมาจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งคำนวณรวมค่าใช้จ่ายด้านการรักษารายหัวของประชาชนรวมอยู่ด้วย ทำให้ยังมีความซับซ้อนด้านการเบิกจ่าย ทั้งนี้ ยังมีประเด็นด้านค่าใช้จ่ายจากความก้าวหน้าในวิชาชีพ และเงินสนับสนุนที่ถูกนำมาใช้สร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. แจ้งความประสงค์ขอโอนย้าย ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า การจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ไปลงที่ส่วนราชราชการใด เพียงพอหรือไม่ในอนาคต

และ 3) ด้านทรัพยากรบุคคลสังกัด รพ.สต. ที่ประสงค์โอนย้ายและไม่ย้าย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ควรให้ข้อมูลและความมั่นใจต่อบุคลากรที่ไม่ประสงค์โอนย้าย และ ทางผู้รับโอนก็ต้องให้หลักประกันว่า มีงบประมาณเพียงพอ ซึ่งเชื่อว่า สำหรับ อบจ.ที่มีศักยภาพไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าหากเป็น อบจ. ขนาดเล็ก ยังไม่พบความชัดเจน ซึ่งหากโอนย้ายไปแล้วเกิดปัญหากับบุคลากรเกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ หากปัญหาข้างต้นยังไม่มีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนก็จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในที่สุด 

ด้าน สาธิต กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. เป็นการกระจายอำนาจที่ตนเห็นด้วยในหลักการ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนฯ พ.ศ.2542 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยฯ โดยจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. กระทรวงสาธารณสุขเองก็มีข้อห่วงกังวลต่อการถ่ายโอนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจเกิดอุปสรรคด้านการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากต้องเป็นแนวปฏิบัติเดียวกันทั้งประเทศ โดยถ่ายทอดการสั่งการจากกระทรวงลงไป ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอรับทราบข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา 

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ยังได้มีมติเห็นควรให้ดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการถ่ายโอน รพ.สต. โดยรวบรวมข้อมูลที่ได้รับจาการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง การจัดสัมมนา และการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนชะลอการถ่ายโอนโดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหารือและออกแบบระบบการให้บริการ โดยอาจให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ที่อยู่ระหว่างการปฏิรูปเขตสุขภาพนำร่องให้เกิดความเชื่อมโยงกันในลักษณะเครือข่ายบริการในแต่ละเขตสุขภาพ