ไม่พบผลการค้นหา
กสทช. แจก 'พาวเวอร์ แบงก์' 4,500 ชุด ปลุกประชาชนแจ้งเบาะแส พบสายสื่อสารเกะกะ บนเสาไฟฟ้า หลังเกิดเหตุมีผู้เสียชีวิต จ.ขอนแก่น

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จัดแคมเปญ เชิญชวนประชาชนช่วยชี้เป้าจุดที่มีสายสื่อสารรกรุงรังบนเสาไฟฟ้าต่างๆ หากพบเห็นสายสื่อสารจำพวกสายโทรศัพท์ สายอินเทอร์เน็ตที่พันกันรุงรัง สายขาด กีดขวางทางจราจร หรืออยู่ต่ำกว่าจุดที่กฎหมายกำหนด ให้โทรแจ้งมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงาน กสทช.เบอร์ 1200 จากนั้นถ่ายภาพสายสื่อสารที่เป็นปัญหาส่งมายัง Line ID : @nbtc1200

เมื่อสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบว่าสายสื่อสารที่ก่อให้เกิดปัญหาว่าเป็นความจริง จะส่ง Power bank ไปให้ผู้แจ้งเบาะแส โดยเตรียมไว้ทั้งสิ้น 4,500 เครื่อง แบ่งเป็น ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง แห่งละ 1,000 เครื่อง และกรุงเทพฯ 500 เครื่อง     

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า กรณีปรากฏตามข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตจากสายโทรคมนาคมที่จังหวัดขอนแก่น และสำนักงาน กสทช. ได้ประสานงานให้บริษัทเจ้าของสายเข้าไปรับผิดชอบต่อผู้เสียหายแล้วนั้น ล่าสุดสำนักงาน กสทช. ได้จัดประชุมหารือร่วมกับ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นและคณะ เพื่อหารือถึงแนวทางการพาดสายสื่อสารในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา  


สายสื่อสาร

"การที่ประชาชนร่วมกันช่วยสังเกต และเตือนภัย สายสื่อสารที่อาจเป็นอันตราย มายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (ฟรี) จะช่วยให้การทำงานของสำนักงาน กสทช. และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และผู้ประกอบกิจการการเคเบิ้ลทีวี ในการแก้ไขปัญหา อันตราย อันอาจจะเกิดจากสายสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ยิ่งขึ้น" นายฐากร กล่าว

โดยสำนักงาน กสทช. ร่วมกับ AIS TRUE 3BB และ Symphony ทำโครงการประชาชนร่วมใจเตือนภัย เพื่อความปลอยภัยสายสื่อสาร รับ Power Bank ฟรี 4,500 อัน สำหรับประชาชน 4,500 รายแรก ที่โทรศัพท์มาแจ้งข้อมูลสายสื่อสารที่เป็นอันตรายกับศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (ฟรี)

พาวเวอร์ แบงก์ กสทช.

ส่วนมาตรการบังคับใช้ในการพาดสายสื่อสารของสำนักงาน กสทช. นั้นผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมทุกราย จะต้องดำเนินการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้ตกลงกับการไฟฟ้าฯ รวมถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปัก หรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบ หรือหลักสิทธิแห่งทางของสำนักงาน กสทช. โดยมาตรฐานการพาดสาย กรณีที่เป็นถนนหลัก ทางหลวงแผ่นดิน ไม่ให้มีการพาดสายข้ามถนนต้องดันท่อร้อยใต้ดินเท่านั้น กรณีถนนสายรอง ซอย การพาดสายข้ามถนนการพาดสายต้องพาดในระดับความสูงกว่าผิวจราจร 5.5-5.9 เมตร และสายสื่อสารทุกประเภทต้องมีสี และชื่อของเจ้าของระบุอย่างชัดเจนเพื่อแสดงตน

ข่าวเกี่ยวข้อง :