ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ ม.ธรรมศาสตร์ ชี้งานวิจัยระบุ Over-the-Top Services หรือ OTT สามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยมากกว่า 36,000 ล้านบาท สร้างงานกว่า 30,000 อาชีพ แนะรัฐร่วมมือเอกชนสร้างแพลตฟอร์ม OTT ที่เข้มแข็ง เสริมแกร่งเศรษฐกิจดิจิทัล

ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC Thammasat) และสหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (Asia Internet Coalition) หรือ AIC ได้ร่วมแถลงผลรายงาน 'Online Video in Thailand: Growth, Innovation and Opportunity' โดยจากการศึกษาพบว่า แพลตฟอร์มบริการสื่อสาร แพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ OTT Services หรือ Over-the-Top Services หรือ บริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน และสามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยได้มากกว่า 36,000 ล้านบาท สร้างงานกว่า 30,000 อาชีพ และสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 4.0 ของรัฐบาล

เจฟ เพน-ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว-OTT

รายงาน 'Online Video Study in Thailand' ได้ศึกษาการสร้างมูลค่าจากการใช้แพลตฟอร์ม OTT ในประเทศไทย รวมถึงความรู้และทักษะที่ผู้บริโภคได้รับจากการใช้แพลตฟอร์ม โดยประมาณการรายได้ที่เกิดจาก OTT ของคนไทยมีมากกว่า 53,000 บาทต่อคนต่อปี อีกทั้งผู้สร้างสรรค์เนื้อหาออนไลน์เหล่านี้สามารถเข้าถึงช่องทางในการสื่อสารและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากการใช้แพลตฟอร์มเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC Thammasat) และผู้ดำเนินการอภิปราย 'Online Video in Thailand: Growth, Innovation, and Opportunity' ได้กล่าวว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการให้บริการบนแพลตฟอร์ม OTT ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงความรู้และทักษะ ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่บนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังช่วยสร้างให้เกิดผู้ประกอบการใหม่หลายพันราย 

โดยผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถเข้าถึงผู้รับชมรับฟังที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ปราศจากข้อจำกัดเหมือนช่องทางการสื่อสารแบบเดิม

ขณะเดียวกัน การศึกษานี้ยังได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจอุตสาหกรรมที่เหมาะสม (supportive ecosystem) เพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้แพลตฟอร์ม OTT ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy) โดยรัฐบาลไทยควรตระหนักถึงศักยภาพโดยรวมของเทคโนโลยีดังกล่าว และทำงานร่วมกับตัวแทนของสมาคมธุรกิจและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกแบบนโยบายที่สามารถใช้แพลตฟอร์ม OTT เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและผู้ประกอบการไทยโดยรวม

ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว-OTT

"ข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมายบนโลกใบนี้ รัฐไม่สามารถควบคุมหรือปิดกั้นได้ เราไม่สามารถปิดฟ้าด้วยฝ่ามือได้ ดังนั้นสิ่งเดียวที่รัฐทำได้คือ การให้เครื่องมือ การสร้างความรู้ในการใช้ดิจิทัล หรือ digital literacy แก่ประชาชน แก่สังคม เพื่อให้พวกเขามีความเข้าใจ และสามารถตัดสินใจได้เองว่า อะไรคือข้อมูลที่ถูก ข้อมูลที่ผิด หรือเป็น fake news" ดร.สุทธิกร กล่าว

พร้อมกับเสนอแนะจากงานวิจัยว่า เรื่องการลงทุนและการสนับสนุนให้คนไทยสามารถสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์บนโลกโซเซียลได้ จะมีมูลค่าและความหมายมากกว่าการสร้างคอนเทนต์ให้คนไทยดู หรือควบคุมดูแลคอนเทนต์ให้กับประชาชน

ทั้งนี้ OTT Services หมายรวมถึงแอปพลิเคชันต่าง ๆ หรือบริการผ่านอินเทอร์เน็ตในทุกรูปแบบ ทั้งแอปพลิเคชันการสื่อสารผ่านการส่งข้อความ เสียง หรือวิดีโอ รวมถึงการให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social networks) บริการซื้อขายออนไลน์ (e-commerce) และบริการที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาให้บริการเกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุน (Fintech services)

ตัวแทน AIC แนะรัฐเลิกควบคุม แต่ต้องวางแนวปฏิบัติและการลงทุนที่สร้างงาน

นายเจฟ เพน กรรมการผู้จัดการสหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (Asia Internet Coalition: AIC) กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการสร้างกลไกในการกำหนดกฏระเบียบที่เหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องบนพื้นฐานการใช้แพลตฟอร์ม OTT และการศึกษานี้ยังให้ข้อเสนอแนะที่ควรนำไปปฏิบัติใช้ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

การทบทวนนโยบายการควบคุมที่ไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม: แทนที่จะเป็นการนำกฏระเบียบปัจจุบันที่ใช้สำหรับสื่อในรูปแบบเดิมมาใช้กับสื่อสมัยใหม่บนแพลตฟอร์ม OTT ภาครัฐควรมีการกำหนดรูปแบบนโยบายใหม่ในการควบคุมการบริการในอุตสาหกรรมสื่อบนแพลตฟอร์ม OTT บนพื้นฐานการวิเคราะห์เชิงลึกในแต่ละประเด็น (rule-by-rule analysis) เนื่องจากนโยบายข้อบังคับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้อิงถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยียุคใหม่ที่หลากหลายและมีลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยนโยบายที่ไม่ได้สร้างบนพื้นฐานความเป็นจริงและปกป้องสื่อในรูปแบบเดิมมากเกินไป ยังเสี่ยงที่จะทำให้สื่อในรูปแบบเดิมขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบนวัตกรรมใหม่ ๆ และท้ายที่สุดย่อมไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มธุรกิจสื่อสมัยใหม่บนแพลตฟอร์มได้

การพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) สำหรับกลไกการกำกับดูแลร่วมกัน (Self-regulation): การบังคับใช้กฎระเบียบใหม่และการแก้ไขข้อกฎหมายเดิมนั้นควรจะเกิดขึ้นเมื่อมีประเด็นเฉพาะเจาะจงใด ๆ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นได้โดยกลไกการกำกับดูแลร่วมกัน (Self-regulation) ทั้งนี้การบังคับใช้กฏระเบียบข้อบังคับทันทีเมื่อมีประเด็นปัญหาโดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบไว้อย่างครอบคลุมอาจจะขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นและการพัฒนาของธุรกิจอุตสาหกรรมโดยรวม โดยการสร้างกลไกการกำกับดูแลร่วมกันได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับความท้าทายในอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม OTT รวมทั้งหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ควรร่วมมือกันเพื่อนช่วยกันสร้างหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างกลไกกำกับดูแลที่เหมาะสมดังกล่าว

การลงทุนในอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์: หน่วยงานของรัฐควรสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยร่วมเป็นหุ้นส่วนสนับสนุนการลงทุนให้กับผู้สร้างเนื้อหาสื่อไทย ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ควรเพิ่มเงินทุนสนับสนุนธุรกิจการสร้างเนื้อหาสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) เพื่อให้ครอบคลุมผู้ผลิตสื่อใหม่และผู้ผลิตสื่อเดิมที่อยู่บนแพลตฟอร์ม OTT เพื่อช่วยสร้างงานที่มีรายได้สูง รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างการแข่งขันในวงการอุตสาหกรรมสื่อไทยเพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ

การส่งเสริมทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล: ทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงความปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาความคิดและพฤติกรรมดิจิทัลของคนไทย เพื่อให้คนไทยสามารถเลือกใช้ข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลเพื่อเลือกและเสพสื่อที่มีเนื้อหาเหมาะสม

ทั้งนี้ สหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (Asia Internet Coalition: AIC) เป็นสมาคมอุตสาหกรรมชั้นนำด้านการกำหนดนโยบายอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชีย โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในตลาดโลก และช่วยรัฐบาลในการพัฒนาและกำหนดนโยบาย ที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :