แม้ ‘อ็อกโทเบอร์เฟส’ หรือเทศกาลเบียร์เดือนตุลาคม จะเป็นหนึ่งวิชลิสต์ในใจใครหลายๆ คน แต่สำหรับบางคนกลับเลือกเดือนสิบของปี เป็นเดือนสำหรับการหยุดดื่ม
‘โซเบอร์ ฟอร์ อ็อกโทเบอร์’ เป็นแคมเปญรณรงค์งดดื่มแอลกอฮอล์ในเดือนตุลาคม พร้อมกับเปิดรับบริจาค เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งผ่านมูลนิธิแมคมิลเลียน (Macmillan Cancer Support) โดยโครงการดังกล่าวเกิดจากกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรในสหราชอาณาจักร ซึ่งผู้เข้าร่วมจะต้องทำตามขั้นตอนชาเลนจ์บนเว็บไซต์ Go Sober และหากสามารถบอกลาต่อแอลกอฮอล์ได้ครบถ้วน 31 วันเต็ม ก็จะได้ขึ้นทำเนียบ ‘โซเบอร์ฮีโร’ (Soberhero) ทันที
ฟิโอนา ซิม อดีตแพทย์ผู้ชำนาญทั่วไป และที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของ ‘ดริงก์อะแวร์’ (Drinkaware) มูลนิธิให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ในสหราชอาณาจักร ซึ่งรับเงินบริจาคจากผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านค้าปลีก และซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ เพื่อทำแคมเปญจน์ลดความเสี่ยงจากพิษแอลกอฮอล์ ระบุว่า การลดการดื่มแอลกอฮอล์ 1 เดือน สร้างผลกระทบด้านบวกต่อร่างกายอย่างน่าอัศจรรย์ใจ เช่น ความดันเลือดลดลง และระบบการนอน รวมถึงคุณภาพการนอนหลับดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“ตับของคุณจะฟื้นฟูเหมือนกัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่ามันถูกทำลายไปเท่าไหร่แล้วก่อนหน้านั้นด้วย” ซิมกล่าว พร้อมกับเสริมด้วยว่า สำหรับผู้ที่ดื่มหนัก การละดื่มแอลกอฮอล์ 1 เดือนอาจยังไม่เห็นผลมากนัก เพราะจะมีอาการถอนเสียมากกว่า ทั้งอาการสั่นตามร่างกาย ปวดหัว และคลื่นเหียน
อย่างไรก็ตาม การเลิกหักดิบภายใน 1 เดือนจึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ติดการดื่มอย่างหนัก จึงควรค่อยๆ ลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงเรื่อยๆ แทนที่จะเลิกดื่มไปเลย
นอกจาก ‘เดือนตุลาคมที่ไม่มีเบียร์’ จะช่วยเหลือด้านร่างกายแล้ว การหยุดดื่มแอลกอฮอล์สักระยะยังช่วยทำให้จิตใจดีขึ้นด้วย เพราะแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้รู้สึกซึมเศร้าในระยะยาว แม้ในระหว่างดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้มึนเมา และรู้สึกดีก็ตามที ดังนั้น การหยุดดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยในเรื่องของความสามารถในการจำด้วย
“แม้ในภาพจำคนทั่วไป แอลกอฮอล์จะเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เลย แอลกอฮอล์ไม่ได้ทำให้คุณดีขึ้นหากรู้สึกเครียด แต่แอลกอฮอล์กลับเพิ่มภาวะวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจจะนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง หรือการฆ่าตัวตายได้”
ทั้งนี้ ในสหราชอาณาจักร ผลสำรวจจากสำนักสถิติแห่งชาติ ระบุว่า มีผู้ดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 29 ล้านคน และ 7.8 ล้านคนยอมรับว่า เคยดื่มหนักจนขาดสติ
ที่มา: