ไม่พบผลการค้นหา
'วิษณุ' เผย 'ต่อตระกูล' มีสิทธิ์วิจารณ์ 'ประวิตร' จี้ลาออกที่ปรึกษา คตช. เพราะเป็นคนพูดตรงไปตรงมากับทุกรัฐบาลอยู่แล้ว แต่มั่นใจไม่น่าสร้างปัญหาให้รัฐบาล ส่วนคะแนนจัดอันดับความโปร่งปี 60 ตรงไหนไม่ดี ก็เข้าไปแก้ไข ฟากรักษาการรองโฆษกเพื่อไทยติงบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย อันดับและคะแนนความโปร่งใสต่ำกว่า 3 ปีก่อน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน คตช. เพื่อขอให้พิจารณาเอาให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษา คตช. หลังจากมีประเด็นนาฬิกาหรู ว่าส่วนตัวยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว และนายต่อตระกูลมีสิทธิ์ที่จะพูด เนื่องจากเป็นคนพูดตรงไปตรงมากับทุกรัฐบาลอยู่แล้ว เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร และไม่มีอะไรที่ผิดปกติ 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความโปร่งใสที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ทำให้ต้องมีการพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่

นายวิษณุยอมรับว่า คงมีการพิจารณากัน เพราะคณะกรรมการ คตส. ไม่ได้จัดการประชุมต้นปี และไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวจะสร้างความลำบากใจให้กับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลหรือไม่ แต่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะนายกรัฐมนตรีได้รับทราบเรื่องนี้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นและก็ไม่ได้ว่าอะไร ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ได้มีการกำชับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว

ทั้งนี้ ในตำแหน่งที่ปรึกษา คตช.ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมการประชุม ทั้งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและตนเอง ยังไม่เคยเข้าร่วมการประชุม ยกเว้นจะมีเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตนเองเท่านั้น

"พล.อ.ประวิตร จะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเจ้าตัว เพราะคำว่าลาออกแปลว่าอยู่ที่เจ้าตัว แต่คำว่าให้ออกมันอยู่ที่คนอื่น" นายวิษณุกล่าว

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ยังกล่าวถึงกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ประกาศผลดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI (Corruption Perception Index) ประจำปี 2560 ซึ่งประเทศไทยได้คะแนน 37 อันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศ และสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีคะแนน 35 อันดับที่ 101 ว่าไม่ใช่เรื่องที่ตนจะบอกว่าพอใจหรือไม่พอใจ แต่จะต้องดูว่ามีเหตุผลใดที่ทำให้คะแนนของไทยต่ำลง และอะไรคือสิ่งที่ทำให้คะแนนเพิ่มขึ้น จึงต้องนำไปแก้ไขเป็นจุดๆ ไป

อย่างไรก็ตาม ผลคะแนนที่ออกมาเป็นการออกมาพูดแค่นั้นและไม่มีอะไรไปมากกว่านี้ แต่ตัวชี้ขององค์กรดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่าเรื่องหลักนิติธรรมยังมีปัญหาจึงต้องแก้ไขในเรื่องดังกล่าวให้ถูกจุด แต่คำว่านิติธรรมที่องค์กรดังกล่าวหมายถึงไม่ใช่หลักนิติธรรมในความหมายที่ไทยจะเข้าใจ 

อีกทั้ง รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของทุกองค์กร รวมถึงการสำรวจต่างๆ ที่รัฐบาลต้องนำมาปรับปรุงแก้ไข พร้อมยอมรับว่าปัจจัยในการเป็นประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งในตัวชี้วัดและรัฐบาลทราบในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557 ขณะเดียวกันจะต้องกำชับหน่วยงานต่างๆ ให้แก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวข้องเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมและ ศูนยอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ที่เป็นหน่วยงานสำคัญในการต่อต้านการทุจริต 

นอกจากนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายในแง่ของการป้องกันการทุจริต ส่วนการปราบปรามรัฐบาลไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงจึงต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลักและไม่ทราบว่าคะแนนความโปร่งใสที่ลดลงจะเกี่ยวข้องกับกรณีนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมหรือไม่

ติงคะแนนและอันดับความ 'โปร่งใส' ต่ำกว่าก่อนรัฐประหาร

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา สถิติ CPI บ่งชี้ว่าคะแนนปี 2560 ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 2 คะแนน ทำให้ลำดับดีขึ้น 5 ลำดับ แต่ยังแย่กว่าปี 2558 ซึ่งเคยอยู่ลำดับที่ 76 และได้ 38 คะแนน และแย่กว่าในปี 2557 ซึ่งอยู่อันดับที่ 85 และได้ 38 คะแนน ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นปีที่มีการรัฐประหาร


สะท้อนว่าการที่รัฐบาลคสช.ประกาศจะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เป็นประธาน คตช. และมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นกรรมการ ยังไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่

รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ส่วนหนึ่งของสาเหตุน่าจะมาจากสภาวะบ้านเมืองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน พรรคการเมืองถูกห้ามทำกิจกรรม ทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ประชาชนสื่อมวลชนถูกกันออกมานอกวงของการตรวจสอบและไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่น จึงส่งผลให้มีปัญหาสำคัญคือการขาดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนหรือไม่ ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ รัฐบาลต้องรับสภาพข้อเท็จจริงนี้ เพื่อนำไปแก้ไขต่อไป


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

นายกฯ สวน 'ต่อตระกูล' จี้เด้ง 'ประวิตร' พ้น คตช.

เปรียบเทียบคะแนน 'โปร่งใส' รบ.ยิ่งลักษณ์-รบ.ประยุทธ์