นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ของทุกปี เป็นช่วงที่เกษตรกรนำทุเรียนตามฤดูกาลออกจำหน่ายตามท้องตลาด สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน ด้วยรสชาติที่หอมหวาน และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ จนทุเรียนได้รับ การขนานนามว่า ราชาแห่งผลไม้ (King of Fruits) เป็นที่นิยมของผู้บริโภคหลายชาติ เป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
สำหรับ ทุเรียนมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื้อทุเรียน 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 150 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุหลายชนิด ซึ่งแร่ธาตุซัลเฟอร์หรือกำมะถัน ทำให้ทุเรียนมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และจากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า เนื้อทุเรียนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับไขมันในเลือด แต่เป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือดแต่ทุเรียนถือว่าเป็นผลไม้ที่มีแป้งและน้ำตาลสูง จึงควรจำกัดปริมาณในการบริโภค และไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต และโรคความดันโลหิตสูง ทุเรียนไม่ควรรับประทานคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะทำให้เกิดสารพิษสะสมในร่างกาย เกิดอาการหน้าแดง ชาตามร่างกาย วิงเวียน คลื่นไส้ และทำให้อาเจียนได้
ทั้งนี้ สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า เนื้อทุเรียน มีรสหวาน ร้อน ช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด บำรุงกำลัง และเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ตามองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านแนะนำว่า หากรับประทานทุเรียนแล้ว ให้รับประทานมังคุดตาม เนื่องจากทุเรียนมีฤทธิ์ร้อน ทำให้ร่างกายร้อนขึ้น และมังคุดเป็นราชินีแห่งผลไม้ (Queen of Fruits) มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย รับประทานคู่กันช่วยให้ร่างกายเกิดความสมดุล เมื่อบริโภคทุเรียนแล้ว ก็ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อเผาผลาญแป้งและน้ำตาล ควบคุมการบริโภค อย่างเคร่งครัด จึงจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง