นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย รองประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. สันนิษฐานกรณีการชำรุดของบันไดเลื่อนบีทีเอส สถานีพญาไท อาจมาจาก 2 ปัจจัย คือ มีเหรียญตกลงไปทำให้ระบบขัดข้อง หรือ อุปกรณ์ยึดโยงบันไดไม่แน่นหนา จนทำให้แผ่นบันไดหลุดออก แต่พุ่งเป้าไปที่มาตรฐานการบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่อาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากบันไดเลื่อนในระบบขนส่งมวลชน ต้องรองรับน้ำหนัก และมีเวลาการทำงานยาวนาน มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่ดี และถี่กว่าบันไดเลื่อนทั่วไป
ตามมาตรฐานทั่วไป ควรมีการดูแลบันไดเลื่อนอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ตามลักษณะการใช้งาน อย่างไรก็ตาม หากเกิดอุบัติเหตุ มีการพลัดตกลงไป จะเหมือนการตกท่อ ความสูง 45 เซนติเมตร มีอันตรายไม่ถึงชีวิต เนื่องจากแผ่นเหล็กก่อนถึงบันไดเลื่อน จะเปิดได้เพียง 1 แผ่น ไม่เหมือนประเทศอื่นที่ทำระบบแตกต่างจากนี้
นอกจากนี้ วสท. จะเตรียมร่างมาตรฐานกำกับดูแลทางวิศวกรรมสำหรับระบบขนส่งมวลชนโดยเฉพาะ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี
สำหรับข้อแนะนำการใช้งานบันไดเลื่อนว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ ให้ผู้ใช้บริการสังเกตว่า บันไดเลื่อนมีเสียงดังผิดปกติ หรือมีร่องรอยชำรุดหรือไม่ ราวมือจับบันไดเลื่อนไม่ทำงานหรือฉีกขาดหรือไม่ บันไดเลื่อนมีความร้อนผิดปกติ กระตุก เคลื่อนที่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่ รวมถึงไม่ควรมีการทำความสะอาดบันไดเลื่อน ขณะที่บันไดเลื่อนกำลังทำงานด้วย เป็นต้น
ด้านนายเอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นเรียกร้องให้ระบบการขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เพิ่มมาตรฐานการบำรุงรักษาบันไดเลื่อนมากกว่าอาคารสาธาารณะทั่วไป เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก อาจทำให้เกิดการเสื่อมสภาพได้ง่ายขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: