ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรคเผยในช่วง 6 เดือนของปี 2561 พบผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วประเทศ 107,381 ราย เสียชีวิตทั้งหมด 79 ราย  แนะผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ป่วย 2 วัน ไข้ไม่ลดลง น้ำมูกเปลี่ยนสีเขียวข้น หายใจหอบ ให้รีบพบแพทย์ทันที ย้ำผู้ที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยงให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนตกสลับอากาศร้อน ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือภูมิต้านทานน้อย โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจป่วยเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย และอาจมีโรคปอดบวมแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด  

 จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-4 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วประเทศ 107,381 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จำนวน 37,269 คน เด็กอายุ 0-5 ปี จำนวน 32,783 คน เสียชีวิตทั้งหมด 79 ราย เป็นผู้สูงอายุ 53 ราย เด็กอายุตำกว่า 5 ปี 3 ราย โรคปอดบวมเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส มักเป็นโรคแทรกซ้อนหลังป่วยไข้หวัดประมาณ 2 วัน โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ น้ำมูกเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นสีเขียวข้น เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย เด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจจะมีอาการเหล่านี้ไม่ชัดเจนหรือไม่ครบทุกอาการ แต่ควรให้ความสนใจอาการแทรกซ้อนของโรคปอดบวม เช่น ในผู้สูงอายุอาจจะมีไข้ หรือตัวอุ่นๆมีอาการซึมหรือสับสน ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จะมีไข้สูง ซึม ไม่ดื่มน้ำหรือนม หายใจลำบาก หอบเร็ว หรือหายใจมีเสียงดังหวีด หรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที จะช่วยลดการเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ขอให้ผู้ที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยงรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันการเป็นไข้หวัดใหญ่และปอดบวมซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อน ส่วนประชาชนทั่วไปให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย กินอาหารปรุงสุกร้อน ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ถ้าป่วยเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ขอให้พักผ่อนมาก ๆ ควรหยุดทำงาน หยุดเรียน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ให้ใช้หน้ากากอนามัย ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งภายหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งของ หากมีข้อสงสัยปรึกษาได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง นายแพทย์โอภาส กล่าว