ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีเสวนาสาธารณะ “Constitution Dialogue : รัฐธรรมนูญสนทนา” - ร่วมคิด ร่วมถก ร่วมสร้างสรรค์ รัฐธรรมนูญเพื่ออนาคต เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม, ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ The101.world
ช่วงหนึ่งของเสวนา พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ‘ไอติม’ ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าและกลุ่ม Re-solution กล่าวถึงมาตรา 112 ว่า เป็นกฎหมายที่มีปัญหาหลายระดับ อย่างแรกคือความหนักของโทษดังกล่าวสูงกว่าระดับสากลมาก คือการจำคุก 3-15 ปี แต่ในต่างประเทศโทษจะอยู่ที่มากสุดไม่เกิน 3-4 ปี ส่วนมากจะ 0-1 ปี 0-2 ปี หรือไม่มีเลย และหากจะปรับให้ตรงกับหลักสากลก็จำเป็นต้องลดโทษลงมา
เขามองว่ากฎหมายดังกล่าวยังคงมีปัญหาในการบังคับใช้อยู่ เนื่องจากพอเป็นกฎหมายอาญาที่อยู่ในลักษณะเกี่ยวกับความมั่นคงแล้ว ก็ยังยอมความไม่ได้ ส่งผลให้ใครจะเป็นผู้กล่าวโทษหรือฟ้องร้องเองก็ได้ ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำร้ายผู้เห็นต่างได้
ในหลายกรณีพอเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ก็อาจจะต้องอาศัยความกล้าหาญมากกว่ากฎหมายปกติกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นความกล้าหาญของตำรวจที่จะไม่ส่งเรื่องต่ออัยการ ความกล้าหาญของอัยการที่อาจจะไม่สั่งฟ้อง หรือความกล้าหาญของศาลที่อาจจะไม่ตัดสินว่าผิดในกรณีที่ความจริงเป็นเพียงความผิดที่ไม่เข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย
"เราเห็นหลายคนถูกดำเนินคดี 112 จากการแชร์บทความข่าวบีบีซี ซึ่งในมุมมองของผมก็รู้สึกว่าไม่ได้เข้าข่ายการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายเลย แต่กลับทำให้บุคคลนั้นที่อายุเท่าๆ กับผม กลับต้องรับใช้โทษอยู่ในเรือนจำ"
เขากล่าวต่อว่า ปัญหากฎหมายมาตรา 112 สามารถแก้ได้โดยไม่ต้องรอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยสามารถล่ารายชื่อหนึ่งหมื่นคนก็สามารถยื่นแก้ไขมาตราดังกล่าวได้
ช่วงหนึ่งของงานเสวนาดังกล่าว พริษฐ์ยังพูดถึงโจทย์การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จำเป็นต้องมี 3 เสาหลักในการสร้างรัฐธรรมนูญที่ดี
1. ทุกฝ่ายยอมรับได้ เป็นกลาง ประชาชนมีส่วนร่วม
พริษฐ์กล่าวว่า กติกาอะไรก็ตามจะดีได้ต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งความยอมรับจะมี 2 องค์ประกอบที่สำคัญที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ขาด คือ ต้องเป็นกติกาที่เป็นกลาง และบังคับใช้กับทุกฝ่ายไม่ใช่เป็นกติกาที่เขียนขึ้นมาเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถสืบทอดอำนาจหรือชนะต่อไปได้ หรือถูกเขียนขึ้นมาเพื่อความหวาดกลัวว่าจะมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมาช่วงชิงอำนาจ และที่สำคัญประชาชนต้องมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของ
2. รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ วางขอบเขตอำนาจองค์กรที่ไม่ยึดโยงประชาชน
พริษฐ์กล่าวว่า หากเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม ปี 2475 ฉบับที่สองของประเทศ กับฉบับปัจจุบัน (2560) กลับมีความถดถอยลงในระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่นหมวดสิทธิเสรีภาพก็จะสังเกตได้ว่าจะถูกจำกัดลงเรื่อยๆ ยกตัวอย่างในรัฐธรรมนูญ 2560 มีการเพิ่มเติมมาตรา 25 ที่ว่าด้วยเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพใจความว่า "บุคคลจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ หากสิ่งที่ทำกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อย"
พริษฐ์ยังกล่าวถึงเรื่ององค์กรอิสระต่อว่า ควรวางขอบเขตองค์กรที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนไว้ให้ดี เช่น สมาชิกวุฒิสภา, องค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
3. เป็นรัฐธรรมนูญที่ทันสมัยและเขียนเนื้อหาเพื่ออนาคต
พริษฐ์มองว่าหากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่แล้ว ก็ควรจะมีการพิจารณาเรื่องหมวดสิทธิเสรีภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจสังคมซึ่งเห็นชัดจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนต่ำลง และหากเราอยากจะรองรับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการเอาสิทธิเสรีภาพและสวัสดิการเหล่านั้น เข้าไปอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ