จากการสำรวจร่วมกันระหว่าง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank และ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า สัดส่วนรถแท็กซี่ที่ใช้ประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบันกว่าร้อยละ 50 หรือคิดเป็นจำนวนรถประมาณ 35,000 คัน เป็นรถที่เหลืออายุการใช้งานไม่ถึง 5 ปี โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุปีละประมาณ 10,000 คัน
จากตัวเลขการคาดการณ์ดังกล่าว สามารถสรุปผลได้ว่า จะมีคนขับแท็กซี่ประมาณร้อยละ 70 ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อกู้ซื้อรถใหม่ เพราะเชื่อว่าเป็นตัวเลือกที่คุ้มกว่าการเช่ารถขับ เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและสามารถจัดสรรเวลาทำงานได้สะดวกและยืดหยุ่นกว่า
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. อ้างอิงผลสำรวจที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้า พบว่า จำนวนคนขับแท็กซี่ทั่วประเทศมีกว่า 1.2 แสนราย คนขับแท็กซี่โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 76.69 ทำอาชีพนี้มานานกว่า 6 ปีขึ้นไป บางรายขับมาแล้วถึง 20 ปี นอกจากนี้ผู้ประกอบการขับรถแท็็กซี่ต้องทำงานหนัก เฉลี่ยขับรถ 25 วันต่อเดือน โดยต้องขับควงกะช่วงเช้า ช่วงเย็น และช่วงกลางคืน เฉลี่ยกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตาม เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วกลับมีรายได้เฉลี่ยเหลือเพียงวันละ 400 บาท จึงมีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย
จากสถานการณ์จุดนี้ ประเมินได้ว่าคนขับแท็กซี่จำนวนหนึ่งที่จะต้องเผชิญการซื้อรถใหม่เนื่องจากรถหมดอายุ ไม่มีทุนเพียงพอ อีกทั้งแหล่งเงินทุนในปัจจุบันก็มีเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมกับคนขับแท็กซี่
ธพว. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย จึงเปิดโครงการ 'ฮัก Taxi' เสริมแกร่งแท็กซี่ไทย ในด้านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามแนวทางอัตราเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) โดยเงื่อนไขผ่อนปรนนี้ทำให้ผู้ขับแท็กซี่มีต้นทุนถูกกว่าการไปเช่ารถขับ อีกทั้งผู้กู้สามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนชำระได้ โดย 1 คน มีสิทธิกู้ซื้อรถได้ 1 คัน
ทั้งนี้ ในระยะแรก ทาง ธพว. ตั้งเป้าไว้ที่ 10,000 คัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่จะได้รับการพัฒนาทักษะต่างๆ ในการประกอบอาชีพ อาทิ ฝึกอบรมทักษะภาษา ระบบประกันสังคม การออมเพื่อประโยชน์วัยเกษียณ การใช้งานระบบเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน
“อาชีพขับรถแท็กซี่ เกี่ยวโยงกับบุคคลต่างๆ อีกจำนวนมาก ดังนั้น การยกระดับแท็กซี่ จะช่วยให้ผู้ประกอบการอาชีพนี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบ ขณะที่ ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก ปลอดภัย รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ต่อการท่องเที่ยวไทย” นายมงคล กล่าว
ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมากล่าวถึงโครงการว่า เป้าหมายของโครงการนี้ คือการช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการขับรถแท็กซี่ที่ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูง โดยใช้แนวทางการพัฒนาจาก ธพว. ด้านการให้สินเชื่อ อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อช่วยในการให้บริการเพื่อลดเสียงร้องเรียนจากผู้โดยสาร
“สาเหตุหนึ่งก็ต้องพูดกันจริงๆ ว่า เขาหารายได้อาจจะไม่พอ เพราะฉะนั้นเมื่อเร่งรีบก็โบกแล้วไม่หยุด แต่ถ้าเราช่วยลดภาระส่วนหนึ่ง ให้เขามีโอกาสที่จะหายใจ มีโอกาสตั้งตัวที่จะปรับเปลี่ยนยกระดับการบริการ อันนี้ก็เป็นการปรับตัวสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจนี้ ในการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ” นายอุตตม กล่าว
นายอุตตมทิ้งท้ายว่า การช่วยเหลือครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการใช้งบประมาณเพิ่มแต่อย่างใด เป็นงบประมาณจาก "วงเงินสินเชื่อเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งภายในประเทศ” ที่ได้จากรัฐบาล ซึ่ง ธพว.มีอยู่แล้ว และยังทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ยุค 4.0 ทั้งภาคผลิตและภาคบริการ