ไม่พบผลการค้นหา
ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของมหาเธร์ โมฮัมหมัดและพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ฝ่ายหัวก้าวหน้าของมาเลเซียต่างมีความหวังว่าประวัติศาสตร์หน้าใหม่จะเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลของชายวัย 92 ปี

ผลการเลือกตั้งมาเลเซียครั้งนี้ถือเป็นการหักปากกาเซียนทุกสำนัก ซึ่งคาดว่าพรรคบาริซาน เนชันนัล (BN) ที่เป็นรัฐบาลมากว่า 60 ปีจะใช้ทุกกลยุทธ์ที่ทำให้ตัวเองได้ชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาล อย่างเช่นที่ผ่านมา แต่แล้วพรรค BN ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับการจับมือกันระหว่างมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีที่ทำให้พรรค BN รุ่งเรืองที่สุด กับอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคฝ่ายค้านปากาตัน ฮารัปปัน (PH) ที่ถูกมหาเธร์เล่นงานจนถูกจำคุกในข้อหามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับผู้ช่วยชาย

แม้มหาเธร์จะเคยเป็นนายรัฐมนตรีอำนาจนิยม ละเมิดสิทธิมนุษยชน และกลั่นแกล้งคู่แข่งทางการเมืองของเขามาตลอด 22 ปีของการดำรงตำแหน่ง (1981 - 2003) แต่ชายวัย 92 ปีคนนี้กลับกลายเป็นความหวังครั้งใหม่ของชาวมาเลเซียหัวก้าวหน้าที่ไม่อาจยอมรับผู้นำที่มีข่าวอื้อฉาวทุจริตในกองทุน 1MDB อย่างนาจิบ ราซักได้อีกต่อไป และมหาเธร์ก็ได้กลายเป็นเหมือนวีรบุรุษที่จะเข้ามาแก้ไขประเทศอีกครั้ง


Bersih เบอร์ซิห์ มาเลเซีย

(มหาเธร์ โมฮัมหมัดร่วมขบวนประท้วงเบอร์ซิห์ เรียกร้องนาจิบ ราซักลาออกจากตำแหน่ง)

อามิน อิสกันดาร์ อดีตบรรณาธิการสำนักข่าวมาเลเชียน อินไซเดอร์ ซึ่งเคยถูกคุมขังหลังจากรัฐบาลนายนาจิบ ราซัก สั่งปิดสำนักข่าวของเขา เชื่อว่า มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้นำวัย 92 ปีจะสร้างความแตกต่างให้กับมาเลเซียได้จริง เนื่องจากพรรค PH จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านอีก 3 พรรค และปฏิรูปประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น

"แม้ที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านจะไม่ค่อยลงรอยกันนัก แต่ก็มองว่าความเห็นที่แตกต่างกันถือเป็นเรื่องปกติของประชาธิปไตย การถกเถียงระหว่าง 4 พรรคถือเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลกัน โดยหลังผลการเลือกตั้งออกมา มหาเธร์ได้ประกาศไว้ว่าจะมีการแก้ไขโครงสร้างรัฐสภาที่กดขี่ และทบทวนกฎหมาย "ปราบปรามข่าวปลอม" ตามที่ได้เคยสัญญาเอาไว้ รวมถึงยกเลิกการเก็บภาษีการค้าและบริการ (GST)

ส่วนความกังวลว่ามหาเธร์จะขึ้นมาเป็นผู้นำอำนาจนิยมเหมือนตอนที่อยู่ในพรรค BN ผมเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยทำงานเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพจะเป็นผู้ดูแลให้รัฐบาล 'มหาเธร์ 2.0' นี้ดำเนินต่อไปอย่างถูกต้อง อย่างมาเรีย ชิน อับดุลลาห์ แกนนำขบวนการเบอร์ซิห์ก็คาดว่าน่าจะได้เป็นรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับภาคประชาสังคมน่าจะดีขึ้น จากที่ผ่านมา รัฐบาลพรรค BN มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับภาคประชาสังคม

นอกจากนี้ มหาเธร์ยังอายุมากแล้ว ต่อให้เขาต้องการอยู่ในอำนาจเกินกว่า 2 ปีที่เขาประกาศไว้ สุขภาพของเขาอาจไม่เอื้ออำนวย ผมจึงเชื่อว่าเขาเพียงต้องการเข้ามาปฏิรูปประเทศ รีบขอพระราชทานอภัยโทษให้กับอันวาร์ อิบราฮิมแล้วก็ลงจากอำนาจ"


มหาเธร์ โมฮัมหมัด อันวาร์ อิบราฮิม

(อันวาร์ อิบราฮิม และมหาเธร์ โมฮัมหมัด ช่วงที่เป็นรัฐบาลในปี 1998)

ด้านชอน อัง นักเคลื่อนไหวด้านเสรีภาพสื่อชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีน จากองค์กร e-Media ก็มองผลการเลือกตั้งว่าเป็นเรื่องน่ายินดี แม้มหาเธ���์จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมาเลเซียได้ภายในข้ามคืน แต่ก็มีความหวังว่าเขาจะทำได้ในระยะยาว

"ในช่วง 100 วันแรก มหาเธร์สัญญาว่าจะยกเลิกภาษี GST และพยุงราคาน้ำมัน ซึ่งจะช่วยประชาชนมาเลเซียได้อย่างมาก เพราะปัจจุบันค่าครองชีพในมาเลเซียสูงมาก หากรัฐบาลทำ 2 อย่างนี้ก็จะช่วยลดภาระของประชาชนไปได้มาก และสำหรับเอ็นจีโออย่างผม ผมคาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะปฏิรูปประเทศ ลงนามในอนุสัญญาเกี่ยวกับมนุษยชน ส่งเสริมสิทธิทางการเมือง และแก้ไขปัญหาการเหยียดเชื้อชาติได้ เพราะมาเรีย ชิน อับดุลลาห์เข้าร่วมกับรัฐบาลชุดนี้

ที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมืองหลักๆ ก็คือความขัดแย้งระหว่างมหาเธร์กับอันวาร์ แต่คราวนี้ครอบครัวอันวาร์ให้อภัยมหาเธร์ได้แล้ว ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมาก ส่วนอีกหนึ่งความขัดแย้งก็คือพรรค DAP ซึ่งส่วนใหญ่คนเชื้อสายจีน และพยายามจะเรียกร้องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ กับพรรคเบอร์ซาตูที่มีชาวมาเลย์เป็นคนส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ารัฐบาลร่วม 4 พรรคน่าจะเป็นการเห็นพ้องร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารประเทศ และพรรค DAP ก็จะไม่เรียกร้องอะไรมาก เพราะทุกวันนี้คนจีนก็ได้รับความเท่าเทียมมากขึ้นแล้ว แม้แต่ในรัฐบาลนาจิบก็ยังรับรองโรงเรียนจีนแล้ว ดังนั้น ผมมองว่าในระยะสั้น ชาวจีนก็อาจจะยอมให้ชาวมาเลย์ได้รับสิทธิพิเศษไปก่อนได้


Mahathir.jpg

(มหาเธร์ โมฮัมหมัด ว่าที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ถ่ายภาพสื่อมวลชนที่ไปทำข่าว)

ตอนผมเด็กๆ ผมเรียกมหาเธร์ว่าเป็นผู้นำเผด็จการเลยแหละ ไม่ใช่แค่ผู้นำอำนาจนิยม แต่ในช่วงที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจมาเลเซียก็เติบโตอย่างมาก โอกาสในการทำงานก็มาก โครงสร้างพื้นฐานภายในมาเลเซียก็พัฒนาขึ้นมาก และในตอนนี้มหาเธร์ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไปแล้ว เขาได้เปลี่ยนไปแล้ว เขาอายุมากแล้ว ไม่มีใครอยากเป็นเผด็จการในวัยแก่หรอก

นอกจากนี้ บริบทก็เปลี่ยนไปด้วย สมัยที่เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เขาอยู่กับพรรค BN ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ มีอิทธิพลมาก แต่ขณะนี้เข้าอยู่พรรคเล็ก พรรค PH ไม่ได้ครองเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว ดังนั้น แม้เขาจะอยากกลับไปเป็นเผด็จการ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ผมจึงมองว่าเป้าหมายหลักในการกลับมาของเขาก็คือการกลับมาแก้ไขประเทศ"


ahu01.jpg

(มหาเธร์ โมฮัมหมัดระหว่างการแถลงข่าวชัยชนะในการเลือกตั้งมาเลเซีย)

ด้านอาจารย์ชัยวัฒน์ มีสัณฐาน ผู้เชี่ยวชาญด้านมาเลเซีย จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวทยาลัยธรรมศาสตร์มองว่า อนาคตของพรรคร่วมรัฐบาลมาเลเซียยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองว่าจะบริหารจัดการความขัดแย้งอย่างไร และการปฏิรูปภายในประเทศมาเลเซียนี้ก็อาจทำให้กระบวนการเจรจาสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยล่าช้าไปด้วย

"คนมาเลเซียมองการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ มีข่าวนายกรัฐมนตรีนาจิบทุจริตและขึ้นภาษี GST ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกของประชาชนและไม่มีทางที่ประชาชนจะจัดการนายกรัฐมนตรีได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญมาเลเซียเปิดทางให้ปลดนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งได้เพียงทางเดียวเท่านั้นคือการเลือกตั้ง ความไม่พอใจก่อนหน้านี้จึงเทมาอยู่ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่บริหารประเทศมากว่า 63 ปี

มันเป็นความท้าทายอย่างมากของพรรคฝ่ายค้าน หากย้อนกลับไปดูพรรคเหล่านี้มีแนวคิดที่แตกต่างกันพอสมควร เพราะมหาเธร์เป็นผู้ผลักดันนโยบายภูมิบุตร ขณะที่พรรค DAP ต่อต้านนโยบายนี้ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศ แต่ครั้งนี้ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมารวมกันได้ก็เพราะมหาเธร์มาเป็นตัวเชื่อม และเป้าหมายหลักของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดก็คือการโค่นนาจิบออกจากตำแหน่งให้ได้ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นการรวมตัวกันแบบเฉพาะกิจ ที่จะค่อนข้างมีปัญหาเมื่อมหาเธร์ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ต้องดูว่าหลังจากนี้จะมีการแบ่งเค้ก ตกลงหาความพอดีของการจัดสรรอำนาจและนโยบายอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ มีพูดถึงเรื่องนี้กันน้อยมาก เพราะสิ่งที่ใช้ในการปราศรัยหลัก ก็คือการโค่นนาจิบ ไม่ใช่นโยบายปลีกย่อย

พรรค DAP ก็พยายามเสนอนโยบายความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาติมาโดยตลอด แต่นโยบายนี้ก็เงียบไปในขณะที่พยายามจะโค่นนาจิบ เพราะนโยบายนี้กระทบต่อฐานเสียงหลัก นั่นคือชาวมลายูและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายภูมิบุตร และการที่เขาไม่พูดเรื่องนี้ก็ทำให้เกิดสึนามิ 2 ลูก คือ ลูกที่ 1 ชาวมลายูที่เคยเลือกพรรครัฐบาล และลูกที่ 2 คือ กลุ่มชาติพันธุ์ในเกาะบอร์เนียวที่เป็นเสียงสำคัญของพรรครัฐบาล เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านก็ไม่ได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาให้พรรครัฐบาลโจมตี


มหาเธร์ นาจิบ ราซัก

(มหาเธร์ โมฮัมหมัดและนาจิบ ราซักระหว่างการประชุมพรรคเมื่อปี 2009)

ส่วนความเป็นอำนาจนิยมของมหาเธร์นั้นติดตัวมาตั้งแต่ตอนเป็นนายกฯ ครั้งก่อน ทำให้หลายคนยังไม่มั่นใจว่าเขาจะทำจริงหรือไม่ แต่ผมมองว่าอายุของมหาเธร์มากแล้ว การจะเป็นนายกฯ จนถึงวัย 94 ปีตามสัญญาก็อาจเป็นไปได้ แต่อาจเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม มหาเธร์ประกาศว่า ประมาณวันที่ 8 มิ.ย. จะขอพระราชทานอภัยโทษให้อันวาร์มา และแต่งตั้งเป็น ส.ว. เพื่อแต่งตั้งให้เขาเป็นนายกฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ความเป็นมหาเธร์ก็ไม่ทำให้คนมั่นใจคำพูดของเขา 100 เปอร์เซ็นต์ ผมว่าก็ยังต้องจับตาดูว่าใน 2 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

ผมมองว่ามหาเธร์น่าจะยังคงกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ไว้เหมือนเดิม เพราะมหาเธร์ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายจำกัดสื่อ จำกัดสิทธิต่างๆ ก็มาจากแนวคิดของเขา การยกเลิกสิ่งที่ตัวเองสร้างมาอย่างทันทีทันใด มันจะสะท้อนปัญหากลับมาที่ตัวเขาเอง และเขาก็น่าจะคงบางอย่างไว้เพื่อป้องกันและปราบปรามไม่ให้สิ่งเหล่านั้น สะท้อนกลับมาเป็นภัยกับตัวเขาได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมมองว่าน่าจะเกิดภาวะที่กลุ่มที่ทำงานด้านประชาสังคมที่เข้าไปอยู่ในรัฐบาล อาจพูดไม่ออก เมื่อไปยืนในจุดที่ตัวเองเป็นรัฐบาล มันมีหลายจุดที่ต้องพิจารณา ไม่ใช่แต่ในเรื่องสิทธิ แต่ยังมีเรื่องฐานเสียงและอำนาจ ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเต็มที่เหมือนตอนที่เขายืนอยู่ในฝั่งฝ่ายค้าน ตรงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่กลุ่มก้อนเหล่านี้ต้องรักษาจุดยืน และหาจุดยืนร่วมกับอำนาจที่มีอยู่ ผมว่าน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะอาจเกิดการเปลี่ยนจุดยืน ลดความเข้มข้นของการต่อต้านรัฐบาลลง

ส่วนในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและไทยก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจับตามองคือ การเป็นตัวกลางเจรจาความร่วมมือและเจรจาสันติภาพระหว่างมารา ปาตานีกับรัฐบาลไทย ที่นาจิบได้ดำเนินการอยู่ เพราะมหาเธร์เน้นไปที่นโยบายปากท้องของประชาชน การยกเลิกสิ่งที่สร้างภาระของประชาชน และปราบทุจริต ดังนั้น ในเรื่องต่างประเทศที่ตัวเองเป็นคนกลางในการแก้ไขปัญหา น่าจะเป็นเรื่องถัดๆ มา หลังจากจัดการบริหารอำนาจภายใน เช็กบิลนาจิบ เคลียร์เรื่องในประเทศเรียบร้อยแล้ว"

อ่านเพิ่มเติม: