ไม่พบผลการค้นหา
คลัง-คมนาคม-เอดีบีลงนามสัญญาเงินกู้ 99.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ยเท่ากู้ในประเทศ ก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 22 และ 23 ช่วงหนองหาน-พังโคน และร้อยเอ็ด-ยโสธร เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากประเทศไทยไม่ได้กู้เงินผ่านธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี มานาน 8-9 ปี ล่าสุดได้มีการลงนามสัญญาทางการเงินระหว่างกระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กรมทางหลวง และเอดีบี สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลัก 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 22 ช่วง อ.หนองหาน -อ.พังโคน ช่วง จ.สกลนคร-จ.นครพนม (กิโลเมตรที่ 180-213) และทางหลวงหมายเลข 23 ช่วงจ.ร้อยเอ็ด-จ.ยโสธร ของกรมทางหลวง ซึ่งมีเงื่อนไขสัญญาทางการเงินเพื่อดำเนินโครงการตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไว้แล้ว กรอบวงเงินไม่เกิน 99.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 3,404 ล้านบาท 

"การกู้ครั้งนี้ เป็นการกู้ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐและเบิกมาทั้งก้อน ระยะเวลาการกู้ 13 ปี ซึ่งเมื่อทำสวอป (แปลงอัตราแลกเปลี่ยน) แล้ว อัตราดอกเบี้ยที่กู้มาก็ถูกลงเป็น LIBOR+0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงกับการกู้ในประเทศ ที่อ้างอิงกับดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาล" นายอภิศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระหว่างธนาคารในลอนดอน หรือ LIBOR ระยะ 12 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 2.77 แต่เมื่อรวมกับส่วนลดและอื่นๆ แล้ว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากเอดีบีในโครงการก่อสร้างทางหลวง 2 เส้นทางนี้ มีอัตราใกล้กับดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยร้อยละ 2.5  

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกับเอดีบีครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถเรียนรู้ประสบการณ์เทคโนโลยีการก่อสร้าง การบริหารโครงการ ตลอดจนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในระดับนานาชาติจากการถ่ายทอดของผู้เชี่ยวชาญของเอดีบี ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการฯ ก่อสร้างมีประสิทธิภาพและแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ในปี 2565 ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

คลัง - คมนาคม -เอดีบี

(อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง -อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม -ราเมช สุบรามาเนียม ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอดีบี)

ขยายเส้นภาคอีสานต่อเชื่อมการจราจร East-West Corridor

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อที่ยังขาดไปในทางหลวงหมายเลข 22 และหมายเลข 23 เพื่อเชื่อมไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ จ.นครพนม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสนับสนุนการจราจรขนส่งระหว่างภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS และคาดว่า การขยายเส้นทางในโครงการนี้จะแล้วเสร็จในปี 2563 

ขณะที่ นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า เอดีบีสนับสนุนรัฐบาลไทยโดยอนุมัติวงเงินกู้ Loan 3582-TH GMS HEP Phase II (Greater Mekong Subregion (GMS) Highway Expansion Phase 2 Project (HEP 2) ) สำหรับใช้พัฒนาขยายทางหลวงหมายเลข 22 ตอน อ.หนองหาน-อ.พังโคน ตอน สกลนคร-นครพนม และทางหลวงหมายเลข 23 ตอน ร้อยเอ็ด-ยโสธร ให้เป็น 4 ช่องจราจรโดยมีวงเงินทั้งสิ้น 6,808 ล้านบาท แบ่งเป็นกรอบวงเงินกู้ร้อยละ 50 หรือเท่ากับ 3,404 ล้านบาท และเงินงบประมาณร้อยละ 50 ตามมติ ครม. 

เนื่องจากเอดีบีประเมินพบว่า โครงการต่างๆ ก่อนหน้านี้ที่เอดีบีสนับสนุน เช่น โครงการก่อสร้างทางสายหลัก 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 12 พิษณุโลก-อ.หล่มสัก และทางหลวงหมายเลข 359 อ.พนมสารคาม-สระแก้ว ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยและบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยสามารถเบิกจ่ายได้ตามแผนงานที่วางไว้และมีประสิทธิภาพการบริหารโครงการดีเยี่ยม

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 22 ตอน อ.หนองหาน-อ.พังโคน และตอน สกลนคร-นครพนม เป็นการก่อสร้างขยายจากทาง 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร มาตรฐานทางชั้นพิเศษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลวงสายเอเชีย หมายเลข 15 (AH15) ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ข้ามแม่น้ำโขงที่จ.นครพนม เชื่อมต่อไปยังเมืองท่าแขก สปป.ลาว และเมืองวินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ 

นอกจากนี้เส้นทางโครงข่าย เลย-อุดรธานี-สกลนคร-นครพนม ยังเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงพื้นที่ด่านชายแดนนครพนมและพื้นที่ด่านชายแดนหนองคายเข้าด้วยกัน และเป็นโครงข่ายที่สนับสนุนแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 (เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมและเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย)

ขณะที่ โครงการก่อสร้างทางสายหลัก 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 23 ตอน ร้อยเอ็ด-ยโสธร เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางโครงข่าย นครสวรรค์-ชัยภูมิ-อ.บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-ยโสธร-อุบลราชธานี-ช่องเม็ก เชื่อมโยงพื้นที่ด่านชายแดนช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และเชื่อมต่อเข้าสู่โครงข่ายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor ผ่านทางหลวงหมายเลข 21 ที่ อ.แก่งคร้อ เพื่อเข้าสู่ระเบียงเศรษฐกิจที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีความสำคัญช่วยส่งเสริมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากตอนใต้ของลาว ผ่านไปยังเมียนมา เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ กรมทางหลวงได้พิจารณาเพิ่มเติมด้านความปลอดภัยในเส้นทางดังกล่าว โดยออกแบบให้มีพื้นที่จุดพักรถบรรทุก หรือ Truck Rest Area จำนวน 3 จุด ได้แก่ สกลนคร-นครพนม ตอน 2 ร้อยเอ็ด-ยโสธร ตอน 1 และ 2 รวมทั้งให้มีสถานีตรวจสอบน้ำหนักบนเส้นทางดังกล่าว และได้มีการกำหนดจุดตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุก หรือ Virtual Weight Station ช่วง อ.หนองหาน-อ.พังโคน ตอน 2 เพื่อควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้

ทั้งนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการบรรทุกน้ำหนักเกินที่จะส่งผลต่ออายุการใช้งานของทางหลวง และช่วยประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงทางของประเทศต่อไป



แม่น้ำโขง

เอดีบีปล่อยกู้ปรับปรุงถนน 125 กิโลเมตรสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนภาคอีสาน

นายราเมช สุบรามาเนียม ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอดีบี เปิดเผยว่า โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย การปรับปรุงโครงข่ายถนนของประเทศจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและบริการทางสังคมได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยโครงการสัญญาเงินกู้ในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงทางหลวงระยะทาง 125 กิโลเมตร เพื่อบริหารจัดการความปลอดภัยบนท้องถนนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยให้ดีขึ้น 

ทั้งนี้ เอดีบีได้จัดสรรเงินกู้ภาครัฐ (sovereign lending) แก่ประเทศไทย โดยใช้วิิธีบริการจัดการการเงินแบบพิเศษ (special financing arrangement) เป็นครั้งแรก เพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่า โครงการจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2565

ข่าวเกี่ยวข้อง :