ไม่พบผลการค้นหา
ในช่วงเดือนที่ผ่านมาการเสียชีวิตของ จามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุดิอาระเบีย ในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบีย ประจำนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เป็นข่าวดังที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก ว่ามีความเป็นไปได้ที่สาเหตุเชื่อมโยงกับการที่เขาวิจารณ์เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เจ้าชายผู้ทรงอำนาจที่สุดในปัจจุบันในซาอุดิอาระเบีย


เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammad bin Salman) หรือที่เรียกขานในซาอุดิอาระเบียในนาม “เอ็มบีเอส” (MBS) เป็นพระโอรสของกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส อัล ซาอุด กษัตริย์พระองค์ปัจจุบันของซาอุดิอาระเบีย เจ้าชาย “เอ็มบีเอส” ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานสภาการเมืองและความมั่นคงแห่งชาติ และประธานสภาเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน  เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตครั้งนี้มากน้อยเพียงใดไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่เรื่องนี้ทำให้การเมืองภายในของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียกลายเป็นที่จับตาของชาวโลก

ทั้งนี้ ศึกสายเลือดช่วงชิงบัลลังก์ในราชวงศ์ต่างๆ ของซาอุดิอาระเบียเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอๆ ในครั้งโบราณ  

เมื่อกษัตริย์อีบิน ซาอุด องค์ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ อัล ซาอุด (Al Saud) ได้ปกครองซาอุดิอาระเบียในปี 1932 พระองค์ต้องการสร้างอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่น จึงได้ทรงอภิเษกสมรสกับทายาทสตรีคนสำคัญจากตระกูลสำคัญๆ ที่ทรงอำนาจในเผ่าต่างๆ ของแว่นแคว้นต่างๆ เพื่อสร้างพันธมิตรทางการเมืองและคานอำนาจทางการเมือง เพื่อให้เกิดเสถียรภาพของราชวงศ์ ทั้งนี้ บรรดาสตรีเหล่านั้น ต่างกลายเป็นพระมารดาของบรรดาเจ้าชายหลายสิบพระองค์ มีทายาทสืบทอดในสายของตนออกไปอีกหลายร้อย ดังนั้น โดยเนื้อแท้แล้ว ราชวงศ์อัล ซาอุด จึงมิได้เป็นปึกแผ่น แต่มีการแบ่งแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ อยู่ภายใน ว่าเจ้าชายองค์ใดสืบสายเลือดมาจากพระมารดาองค์ใด โดยมีตระกูลของพระมารดาแต่ละองค์เป็นกำลังหนุนหลัง

กษัตริย์อีบิน ซาอุด องค์ปฐมกษัตริย์ทรงตระหนักในเรื่องนี้ จึงทรงตั้งกฎมณเทียรบาลว่าการสืบทอดราชบัลลังก์ให้สืบสันตติวงศ์จากพี่ชายสู่น้องชาย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการที่พี่น้องเข่นฆ่ากันเอง ป้องกันการที่อาจะฆ่าหลาน และเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจของตระกูลฝ่ายพระชายาซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าชายที่จะได้เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป เพราะการสืบสันตติวงศ์จากพี่ชายสู่น้องชายจะก่อให้เกิดการผลัดกันครองอำนาจของสายตระกูลต่างๆ ของพระชายาแต่ละองค์

ในบรรดาเจ้าชายที่เป็นพระโอรสของกษัตริย์อีบิน ซาอุด มีกลุ่มเจ้าชายที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง คือ กลุ่มเจ้าชายที่สืบสายเลือดจากพระนางฮัสซา บินห์ อาห์เหม็ด อัล ซูไดรี พระชายาองค์ที่แปดของกษัตริย์อีบิน ซาอุด ซึ่งพระนางเป็นทายาทคนสำคัญของตระกูลซูไดรี (Sudairi) ที่มีอิทธิพลสูงมากในซาอุดิอาระเบีย และยังเป็นตระกูลของพระชนนีของกษัตริย์อีบิน ซาอุด ทั้งนี้ พระนางฮัสซา บินห์ อาห์เหม็ด อัล ซูไดรี มีโอรสธิดา 12 พระองค์ ในจำนวนนี้เป็นพระโอรส 7 พระองค์ ซึ่งล้วนคุมอำนาจในตำแหน่งสำคัญๆ มาถึง 6 รัชกาล หลังจากกษัตริย์อีบิน ซาอุด เสด็จสวรรคต จนมีฉายาว่า “ซูไดรีทั้งเจ็ด” (Sudairi Seven)

อย่างไรก็ดี เมื่อกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส อัล ซาอุด ได้ขึ้นครองราชย์ในปี 2015 ต่อจากพระเชษฐาต่างพระมารดาของพระองค์ ก็ได้ทรงเปลี่ยนกฎมณเทียรบาลโดยปลดเจ้าชายมูกริน บิน อับดุล อาซิซ บิน ซาอุด พระอนุชาต่างพระมารดาของพระองค์ออกจากตำแหน่งมกุฏราชกุมารซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะได้สืบทอดราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป แล้วทรงตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ โอรสของพระอนุชาร่วมพระมารดาของพระองค์เป็นมกุฎราชกุมารแทน แล้วทรงตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระโอรสของพระองค์เองเป็นรองมกุฎราชกุมาร

ผู้ที่ศึกษาการเมืองของซาอุดิอาระเบียจึงวิเคราะห์กันว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการรวบอำนาจในราชสำนักและอาณาจักรให้ไปอยู่ในมือของกลุ่มราชวงศ์อัล ซาอุด สายเลือด “ซูไดรี” ไม่แบ่งกับสายเลือดอื่นอีกต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการปลดเจ้าชายซาอุด อัลไฟซาล รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งตามประเพณีผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นเจ้าชายในราชวงศ์อัลซาอุดเท่านั้น แล้วแต่งตั้ง นายอเดล อัล จูเบอร์ บุคคลใกล้ชิดของตระกูล “ซูไดรี” ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

ต่อมาในปี 2017 ก็มีการตั้งข้อหาและควบคุมตัวเจ้าชายในราชวงศ์อัล ซาอุด 11 องค์ ในข้อหาคอรัปชั่น แต่ไม่มีการเปิดเผยราชละเอียดใดๆ แต่ประกาศว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภายใต้การนำของ “เอ็มบีเอส” ซึ่งเป็นที่จับตาว่า บรรดาเจ้าชายที่ถูกตั้งข้อหาเหล่านั้นล้วนเป็นเจ้าชายในราชวงศ์อัล ซาอุด สายเลือดอื่น ไม่ใช่สายเลือด “ซูไดรี”

หลังจากนั้น ก็มีข่าวลือต่อเนื่องเกี่ยวกับการที่ “เอ็มบีเอส” กำจัดบุคคลที่แข็งข้อหรือต่อต้านอย่างเหี้ยมโหด เพียงแต่ไม่มีข่าวใดที่เป็นทางการหรือให้รายละเอียดได้ เพราะสำนักข่าวของซาอุดิอาระเบียถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด และมีกฎหมายลงโทษที่ร้ายแรง

ล่าสุด เจ้าชายอาห์หมัด บิน อับดุลอาซิส (Ahmad bin Abdulaziz) พระอนุชาต่างพระมารดาของกษัตริย์ซัลมาน ผู้ลี้ภัยจากราชภัยของ “เอ็มบีเอส” ในกรุงลอนดอน ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในกรุงลอนดอนว่าพระองค์จะเสด็จกลับซาอุดิอาระเบียภายใต้การรับประกันความปลอดภัยโดยทางการอังกฤษและทางการสหรัฐฯ เท่านั้น และทรงกล่าวว่า “สมาชิกองค์อื่นๆในราชวงศ์อัล ซาอุด ควรตระหนักว่า “เอ็มบีเอส” เป็นภัยต่อเสถียรภาพของราชวงศ์อัล ซาอุด” และทรงเสนอให้มีการพิจารณาควบคุมการใช้อำนาจของ “เอ็มบีเอส” หรือ ปลด “เอ็มบีเอส” ออกจากตำแหน่งต่างๆ เสีย

ในฐานะที่ราชวงศ์อัล ซาอุด เป็นผู้ปกครองประเทศ เรื่องภายในราชวงศ์จึงไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนพระองค์ในครอบครัว แต่เป็นเรื่องที่กระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติซาอุดิอาระเบียด้วย  อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่เห็นวี่แววที่การเมืองในราชวงศ์อัล ซาอุด แห่งซาอุดิอาระเบียจะสงบลงได้อย่างสันติ ต้องจับตากันต่อไป