ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเรือล่ม จังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 ก.ค. พบร่างผู้เสียชีวิต 45 ราย พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลเรียบร้อยแล้วทั้งหมด เหลืออีก 1 รายที่เพิ่งพบร่างเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ยังรอการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล และอีก 1 รายที่ติดอยู่ใต้ซากเรือฟินิกซ์ ทำให้สามารถสรุปยอดผู้เสียชีวิต มีทั้งสิ้น 47 ราย จากนักท่องเที่ยวในเรือฟินิกซ์ทั้งหมด 89 ราย นอกเหนือจากลูกเรือและไกด์ 14 คน รวมเป็นทั้งสิ้น 103 คน ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้การดำเนินการกู้ภัยร่วมกับนักประดาน้ำจากจีน 10 คน
สำหรับร่างผู้เสียชีวิตที่พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลเรียบร้อยแล้ว ได้มีการแจ้งขอจัดการศพ โดยทำการเผาศพที่ภูเก็ต จำนวน 30 ราย และนำศพกลับประเทศจีน จำนวน 11 ราย การฌาปนกิจศพ ดำเนินการต่อเนื่องทุกวัน จนครบจำนวน ส่วนการนำศพกลับประเทศ เจ้าของเรือรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดำเนินการให้ทั้งหมด
ญาติผู้ประสบภัยเรือล่มรับเงินเยียวยากลุ่มแรก 6 ราย
ด้านการเยียวยาผู้ประสบเหตุเรือล่ม จังหวัดได้ประชุมร่วมกับกงสุลจีน และได้ข้อยุติในขั้นตอน ต่างๆ วันนี้ โดยจะเริ่มจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบเหตุเรือล่ม สำหรับคนที่มีหลักฐานพร้อม เป็นทายาทโดยชอบธรรม จ่ายได้ทันที ส่วนทายาทอื่น สถานกงสุลยังไม่รับรอง ต้องพิสูจน์ความเป็นทายาทก่อน จึงรับเงินเยียวยาได้ ดังนั้น ในวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา จึงมีผู้เริ่มรับเงินเยียวยา ได้ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต รอบแรกจำนวน 6 ราย ที่มีเอกสารหลักฐานครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินเยียวยา มาจาก 2 ส่วน ได้แก่ จากบริษัทประกันภัยที่เรือฟินิกซ์ มีกรมธรรม์ไว้ และจากกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้น กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินจากทั้ง 2 ส่วน ประมาณ 2.1 ล้านบาทต่อราย
หวังสภาพอากาศเป็นใจ รอกู้ร่างผู้เสียชีวิตรายที่ 47 จากใต้ซากเรือ
ด้าน พล.ร.ท. สมนึก เปรมปราโมทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า ทัพเรือภาคที่ 3 ร่วมปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหาย หลังจากที่พบคาดว่าเป็นรายผู้เสียชีวิตที่พบบนเกาะพีพี จ.กระบี่ ได้นำส่ง รพ.วชิระภูเก็ตเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลแล้ว ส่วนการกู้ศพที่ติดใต้ท้องเรือ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมาให้เรือออกไปเตรียมพร้อมดำเนินการ ได้เอาเชือกไปผูกที่เรือยึดตรึงไม่ให้แกว่ง ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติ ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาพอากาศ การปฏิบัติการครั้งนี้ร่วมกับชุดทีมดำน้ำจากจีน
โดยทัพเรือภาคที่ 3 ขอบคุณทีมกู้ภัยของจีนที่ร่วมทำงานให้ราบรื่น โดยหน่วยงานดำน้ำของจีน ร่วมกับชาวไทย ชาวต่างประเทศ จำนวน 80 คน ที่ร่วมกันค้นหาผู้สูญหาย ขอบคุณมูลนิธิกุศลธรรม เรือประมง เรือท่องเที่ยวที่แจ้งข้อมูลข่าวสารทำให้การค้นหาได้พบผู้สูญหายได้อย่างรวดเร็ว
"การดำเนินการกู้ภัย ได้ทำงานร่วมกับฝ่ายจีนมาตลอด การจะหยุดดำเนินการหรือไม่นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นร่างผู้เสียชีวิต 1 ร่าง ที่ติดอยู่ใต้เรือ คาดว่าเป็นร่างของนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกันนี้ โดยได้มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 12 ก.ค. หากสภาพอากาศเป็นใจ เชื่อว่าจะสามารถนำร่างผู้เสียชีวิตขึ้นมาได้" พล.ร.ท.สมนึก กล่าว
ตำรวจสอบพยานกว่า 100 ปาก
พล.ต.ต.ธีระพงษ์ ทิพย์เจริญ ผู้บังคับ การตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันได้ดำเนินการสอบสวนพยานต่างๆ ร่วม 100 กว่าปากแล้ว ซึ่งค่อนข้างครบถ้วน มีเพียงบางประเด็นต้องสอบสวนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามขั้นต่อไปคือการตรวจสอบสภาพเรือ หลังจากที่กู้เรือขึ้นมาแล้ว โดยประเด็นการสอบสวน ประกอบด้วย สภาพอากาศ การแจ้งเตือน การควบคุมเรือเข้า-ออก กัปตัน (การตัดสินใจ) นโยบายของบริษัทเรือ และบริษัททัวร์ ว่ามีการกดดันให้กัปตันนำเรือฝ่าพายุออกไปหรือไม่ มาตรฐานความปลอดภัย การสาธิตการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุ ซึ่งเมื่อได้ผลการสอบสวน จะนำไปสู่การหาผู้รับผิดชอบ ทั้งตัวบุคคล และนิติบุคคล การปรับปรุงมาตรฐานทุกด้าน
ทั้งนี้ หลังรวบรวมพยานหลักฐาน จะเข้าสู่กระบวนการชั้นศาล ซึ่งปัญหาในตอนนี้คือ ยังไม่มีนักท่องเที่ยวที่ประสบเหตุ ขึ้นให้การในชั้นศาล ตำรวจจึงขอความร่วมมือหากมีนักท่องเที่ยวที่สามารถขึ้นให้การได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ขณะเดียวกัน ตำรวจเคารพในการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว หากไม่ต้องการขึ้นให้การ จะไม่มีการบังคับใดๆ
ส่วนที่มีการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลออนไลน์ของจีน กรณีที่มีการแจ้งข้อหา นายเฝิงต้าซิง ไต๋กงเรือว่ากระทำการโดยประมาท ทำให้เกิดเหตุ ทั้งๆ ที่เป็นผู้นำเรือมาช่วยนักท่องเที่ยวนั้น ตำรวจขอชี้แจงว่า นายเฝิงต้าซิง เป็นผู้จัดการของบริษัทเรือเซเรนาต้า และได้นำเรือไปช่วยเฉพาะเรือเซเรนาต้าซึ่งเป็นลูกค้า แต่ไม่ได้ไปช่วยเรือฟินิกซ์
กรมเจ้าท่าเตือนห้ามเรือความยาวน้อยกว่า 3 เมตรออกทะเล ยามคลื่นสูง 1 เมตร
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนจากกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจ้าท่าให้มากำกับดูแลในส่วนที่กรมเจ้าท่ามีความรับผิดชอบ ได้ประสานงานกับ ศรชล.เขต 3 อย่างต่อเนื่อง คาดว่า 2 คนที่สูญหายอาจจะอยู่ใต้เรือ จึงจำเป็นจะต้องพลิกเรือเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัด จึงต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เรือเสียหาย ต้องใช้เจ้าหน้าที่ ที่มีความเชี่ยวชาญ เรื่องการกู้เรือ
"ในการกระทำนี้เนื่องจากจุดเกิดเหตุมีความลึกเกือบ 45 เมตร โดยการกู้เรือนั้นวางแผนจะใช้เครน 400 ตัน ในการทำเรือให้ตั้งตรงแล้วสูบน้ำออก และจะไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าไปยุ่งนอกจากเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งขณะนี้อุปกรณ์ในการกู้เรือยังเดินทางมาไม่ถึงจังหวัดภูเก็ต อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 10 วัน 15 วัน สามารถกู้เรือได้แต่ต้องขึ้นอยู่ตามสภาพอากาศ" นายภูริพัฒน์กล่าว
พร้อมกับยืนยันว่า การออกประกาศคำเตือนห้ามเรือออกจากฝั่ง อ้างอิงตามหลักวิชาการ มีการกำหนดความสูงของคลื่น ต่อความยาวของเรือ เช่น คลื่นสูง 1 เมตร เรือที่มีความยาวต่ำกว่า 3 เมตร ไม่สามารถออกจากฝั่งได้ เป็นต้น ดังนั้นการทำงานในครั้งนี้ ไม่อยากให้มีการจับผิดกัน หากมีความสงสัย หรือมีการแจ้งว่ามีเรือฝ่าฝืนกฎหมาย ก็พร้อมจะเข้าไปตรวจสอบ
ข่าวเกี่ยวข้อง :