นางโดนิกา พอตตี เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เล่าว่า ตั้งแต่ปี 1999 รัฐสภาแคนาดา ประกาศว่าจะไม่มีทางเห็นชอบเรื่องการสมรสเพศเดียวกัน กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในหน่วยงานต่างๆ จึงเริ่มออกมาเรียกร้องว่าสิทธิของพวกเขายังไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถมีครอบครัวได้ และมีการฟ้องศาลชั้นต้น จนไปถึงศาลฏีกา ใน 3 ประเด็น คือ
1.เราจะเรียกว่าเรามีสิทธิเพียงพอแล้วได้อย่างไรในเมื่อกฎหมายความสัมพันธ์มีข้อยกเว้นสำหรับคู่ชายและหญิงในตอนนั้น
2.สิทธิในการเป็นผู้ปกครองในการรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม
3.ผู้นำทางศาสนาจะถูกบังคับให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเกี่ยวกับการสมรสเพศเดียวกันได้หรือไม่
โดยที่กลุ่มเหล่านี้เน้นย้ำว่ากฎหมายเกี่ยวกับคู่ชีวิต Common Law Partnership ไม่เพียงพอต่อสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBT จนในปี ค.ศ. 2003 มีการรณรงค์ให้สิทธิในการสมรสของกลุ่มชายรักชาย หรือเกย์ ทำให้เขตปกครองต่างๆ ในประเทศแคนาดา ค่อยๆ ยอมรับ ก่อนที่จะมีการเสนอในระดับประเทศในระบบสหพันธ์ ประกอบกับภาคประชาสังคมได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการยื่นฟ้องต่อศาลในระยะเวลานาน และในที่สุดศาลก็ต้องพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค ซึ่งส่งผลให้เกิดการสมรสอย่างเท่าเทียมกันในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญในแคนาดา คือ ผู้นำที่ได้รับการส่งเสริมโดยภาคประชาสังคม ทำให้สามารถผลักดันความเท่าเทียมกันในการสมรสได้ต่อไปในแคนาดา
ในปี 2005 รัฐบาลแคนาดาออกกฎหมายรับรองให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ในระดับสหพันธรัฐ ซี่งรวมถึงการอนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสแล้วสามารถที่จะจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ ซึ่งรัฐบาลของประเทศแคนาดาค่อนข้างที่จะมีแนวคิดที่เปิดกว้างในประเด็นของเพศทางเลือก (LGBTI)
นางซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศฟินแลนด์เริ่มจากมีกฎหมายคู่ชีวิต (Civil Partnership Law) ในปี 2001 ซึ่งให้สิทธิ์สำหรับเพศเดียวกันเท่านั้น แม้จะยังไม่ได้ให้สิทธิที่ดีที่สุด แต่เป็นก้าวแรก และก็มีการเคลื่อนไหวในสังคม นักกิจกรรม นักการเมืองต่างๆ ให้ความสนใจในหนทางที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในการแต่งงาน ประชาชนกว่า 90,000 คนรวมรายชื่อกันเพื่อเสนอเรื่องนี้เข้าในรัฐสภา และมีนักการเมืองหยิบยกประเด็นนี้เข้ามาอภิปรายผลักดันในสภาด้วย แม้จะมีการโต้แย้งกันยาวนานในรัฐสภา แต่ในที่สุดก็มีการประกาศในปี 2014 และปรับแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จนสามารถปฏิบัติได้จริงในปี 2017
ส่วนการทำให้สังคมประเทศฟินแลนด์ยอมรับในประเด็นการสมรสของคนเพศเดียวกันได้นั้น เกิดจากการหารือกันอย่างกว้างขวางผ่านเวทีเสวนาสาธารณะ หรือ Public Debate เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทำให้สังคมค่อยๆ เกิดการเรียนรู้และยอมรับในที่สุด จากการสำรวจในครั้งแรกมีผู้เห็นด้วยไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้ายภาคประชาสังคมก็ยอมรับในที่สุด ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ของ EU ให้การสนับสนุน ก็ให้การสนับสนุนสิทธิกลุ่ม LGBTI โดยพื้นฐานของสิทธืมนุษยชน หริอการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ การให้ความเคารพกับชีวิตส่วนตัว
ในด้านศาสนา ถึงแม้ว่าฟินแลนด์จะเป็นประเทศที่ประชากรนับถือศาสนาคริสต์จำนวนมาก แต่ผู้นำทางศาสนาก็ในการสนับสนุนกฎหมายนี้ ซึ่งเขาเห็นว่ามันไม่เกี่ยวว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร แต่มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นแก่นฐานของคริสเตียน
นายไฆเม บีร์กิลิโอ นัวลาร์ต ซานเชซ เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญของประเทศเม็กซิโก บัญญัติห้ามไม่ให้เลือกปฏิบัติเนื่องจากความแตกต่างในทางอัตลักษณ์ทางเพศ และในปี 2006 ได้มีการออกกฎหมายเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ
การให้สิทธิของคนเพศเดียวกันในการสมรสเริ่มขึ้นใน ปี 2006 โดยการริเริ่มของรัฐบาลท้องถิ่นในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ได้รับรองการจดทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกัน และต่อมารัฐอื่นๆ ในประเทศเม็กซิโกได้มีการดำเนินการตาม ซึ่งในแต่ละรัฐของเม็กซิโกจะมีสภาของตนเองที่จะทำการออกกฎหมาย เริ่มจากการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งโดยอนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันสมรสกันได้ และขณะเดียวกันการแต่งงานตามกฏหมายในเม็กซิโกไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานทางศาสนา
เม็กซิโกซิตี้ใช้เวลาในการแก้กฎหมายอยู่ประมาณ 3 ปี ซึ่งในตอนนั้นก็ถูกคัดค้านพอสมควร แต่เนื่องจากมีการทำงานของ NGOs ทำให้ในที่สุด 2009 ศาลสูงในรัฐเม็กซิโกซิตี้ มีคำสั่งให้ออกกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันครั้งแรกในทวีปละตินอเมริกา จนมีการเริ่มใช้กฎหมายจริงในเดือนมีนาคม 2010 แต่ยังมีการปรับแก้กฎหมายเรื่อยมา
ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2013 รัฐสภากลางของเม็กซิโกได้ให้การรับรองทางกฎหมายนี้ถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา จนในปี 2016 ประธานาธิบดีเม็กซิโกได้มีการเรียกร้องให้แก้กฎหมายมากกว่า 700 ครั้ง โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และส่งจดหมายออกไปสอบถามความคิดเห็นกว่า 40,000 ฉบับเพื่อสอบถามประชาพิจารณ์ และมีการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ามีกฎหมายบางตัวที่ขัดต่อหลักของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติ จนทำให้รัฐอื่นๆ ต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยต่อไป
ดังนั้น ในเม็กซิโก คำตัดสินของศาลมีบทบาทสำคัญในการส่งยื่นฟ้องหน่วยงานต่างๆ จนทำให้เกิดสิทธิของ LGBT
ปัจจุบันนี้มีรัฐ 13 รัฐจาก 32 รัฐในเม็กซิโกให้การรับรองการสมรสเพศเดียวกัน และมีบางรัฐก็ให้การรับรองการอยู่ร่วมกันของคู่รักเพศเดียวกัน
นายเจฟ ดอยจ์ เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย เล่าว่า ตั้งแต่ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลล่า ถูกจำคุก ทำให้เกิดการต่อสู้เรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคต่างๆ ในปี ค.ศ. 1973 ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้พิพากษา และผู้นำศาสนาในขณะนั้น เสนอให้มีการร่างกฎหมายสิทธิพลเมืองในแอฟริกาใต้ และผ่านกฎหมายใน ปี ค.ศ. 1996 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสิทธิเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศด้วย แต่รัฐสภาในขณะนั้นยังล้าหลัง ทำให้มีปัญหาในทางปฏิบัติมีปัญหา เช่น ยังไม่มีการอนุญาตให้มีการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน ในขณะที่องค์กรตุลาการทางศาลค่อนข้างจะมีความก้าวหน้ามากกว่า ภาคประชาชนจึงมีการยื่นฟ้องต่อศาลว่ารัฐสภาไม่ออกกฎหมายในเวลาที่กำหนด และศาลออกกฎหมายเอง โดยการวางหลักกฎหมายและสร้างความชัดเจนในการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน รวมถึงสถานะในทางการเงินของบุคคลเพศเดียวกันที่สมรสกันด้วย
เจฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนกฎหมายนี้ คือ ความกลัวของผู้ที่มีความคิดเชิงอนุรักษ์นิยม ซึ่งรัฐบาลควรที่จะมีกฎหมายจัดการกับความกลัวของสังคมที่มีต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่ยังมีอยู่ในมิติทางด้านจิตวิทยาด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทของหลายประเทศประเทศ รวมทั้งมิติทางศาสนาที่ห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในเรื่องนี้
ดังนั้น การที่มีการโน้มน้าว สร้างแรงจูงใจจากภาคประชาสังคม หรือประชาชน ก็อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดเชิงอนุรักษ์นิยม วัฒนธรรมเดิม ของผู้นำชุมชน หรือผู้นำศาสนาไม่มีความกลัวต่อ LGBT ได้
นายมาร์ค วอร์น็อก เจ้าหน้าที่สถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ขออนุญาติพูดเกี่ยวกับการสมรสเพศเดียวกันของรัฐบาลและประชาชนออสเตรเลีย โดยทั่วไปแล้วกลุ่มบุคคล LGBTI ถูกกระทำหรือถูกละเมิดทั้งในเรื่องความไม่เท่าเทียมและการย่ำยีศักดิ์ศรี การสมรสเพศเดียวกันก็เป็นประเด็นหลักของเรื่องสิทธิมนุษยชนของ LGBTI ในประเทศออสเตรเลีย ประเด็นของ LGBTI ก็เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง เราส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียม และการคุ้มครองบุคคลทุกคน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ รวมถึงเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี และอื่นๆ
วอร์น็อกพูดถึง 3 ประเด็น เรื่องแรก คือ เส้นทางของการออกกฎหมายสมรสเพศเดียวกันของออสเตรเลีย เรื่องที่สอง คือเสรีภาพในการนับถือศาสนา เรื่องที่สามคือการบังคับใช้กฎหมาย จากที่ประเทศต่างๆ ก็มีประสบการณ์ที่ต่างกันออกไป
หลังการเลือกตั้งในปี 2016 รัฐบาลเห็นว่าชาวออสเตรเลียควรจะมีโอกาสได้พิจารณาประเด็นการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน จนในเดือนสิงหาคม 2017 มีการทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 12.7 ล้านคนทางไปรษณีย์ ว่าควรจะเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้มีการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันหรือไม่ ผลของการสำรวจพบว่าร้อยละ 61.66 เห็นชอบต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายทั้งหมดเพื่อให้มีการแต่งงานบุคคลเพศเดียวกันได้
ในวันเดียวกันที่ผลสำรวจนี้ออกมาก็มีการประกาศในรัฐสภาเรื่องการพัฒนากฎหมายการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน โดยเริ่มตั้งแต่การแก้ไขนิยามของคำว่าแต่งงาน เป็น 'สมรสกับของบุคคลสองคน' และตัดคำว่า 'สามี ภรรยา' ออกไปเป็นคำว่า 'คู่สมรส' แทน, การรับรองบุคคลที่แต่งงานเพศเดียวกัน, และการจัดพิธีการแต่งงานตามศาสนา ซึ่งตอนนี้มีการจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกันแล้วกว่า 2,500 คู่ และคู่สมรสเพศเดียวกันยังสามารถขอวีซ่าในรูปแบบของคู่สมรสได้
ส่วนในประเทศไทย ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต เริ่มต้นจากการยกร่างในรัฐสภาเมื่อปี 2556 แต่ด้วยอุปสรรค์ใน 2 ด้าน คือ ด้านกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีหลากหลายฉบับ และบทบัญญัติในกฎหมายบางข้อที่ยังกำหนดเรื่องชาย-หญิง ซึ่งการจดทะเบียนสมรสของคนรักเพศเดียวกันย่อมจะส่งผลกระทบถึงกฎหมายจำนวนมาก เช่น ภาษี, สินสมรส,การเลี้ยงดูบุตร, มรดก ฯลฯ
ขณะที่มิติทางสังคม กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และภาคประชาสังคม กลับมีความต้องการที่ยังไม่ตรงกัน เช่น การต้องการปรับแก้คำนำหน้าชื่อ, การสมรส, การทำนิติกรรม-ธุรกรรม, การตัดสินใจแทนในทางการแพทย์, หรือแม้แต่การใช้ชีวิตแบบคู่ชีวิตที่ไม่ใช่การสมรส ซึ่งทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ในการยกร่าง
นอกจากนี้ การทำรัฐประหารในปี 2557 ทำให้กฎหมายที่ยังอยู่ในชั้นของกรรมาธิการยกร่างต้องตกไปอยู่ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนจะเข้าสู่คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายของกระทรวงในเดือนกันยายน และคาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีได้ในเดือนธันวาคม ซึ่งจะนำมาสู่ข้อกังวลว่า หากร่างกฎหมายเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน จะทำให้ร่างกฎหมายนี้ ต้องตกกลับมาสู่กรมคุ้มครองสิทธิฯ อีกครั้งหลังการเลือกตั้งในปี 2562 หรือไม่