เหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในเมืองสะนามไซ แขวงอัตตะปือเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภาพเหตุการณ์ในคืนวันนั้นยังคงติดตาและอยู่ในภาพความทรงจำของใครหลายคนทั้งผู้ใหญ่และเด็ก หน่วยงานทั้งภาคและองค์กรจัดตั้งสากลต่างๆ ได้เข้ามาช่วยเหลือพร้อมทั้งแผนฟื้นฟูระยะยาวให้แก่ผู้ประสบภัยโดยเฉพาะในด้านจิตใจที่ใครหลายคนยังคนฝังใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ท้าวเวียงสะไหม ขุนวิไซ ผู้ช่วยผู้อำนวยการบ้านช่วยเหลือเด็กน้อย SOS ปากเซกล่าวกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ทางองค์กรได้ช่วยมาช่วยฟื้นฟูและปรับสภาพจิตใจให้กับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเด็กส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำกิจกรรมในศูนย์นี้มีจำนวนประมาณ 130 คนในแต่ละวัน โดยเด็กที่เข้ามาทำกิจกรรมมีตั้งแต่อายุ 3 -16 ปี และกิจกรรมในแต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่ 8.00 -16.00 น.
ทั้งนี้ ครอบครัวผู้ประสบภัยจำนวนหนึ่งเปิดเผยว่า เด็กเล็กเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมมากที่สุด หลายครอบครัวสูญเสียลูกหลานที่ยังเป็นเด็กไป เพราะเด็กๆ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
การเข้ามาทำกิจกรรมดังกล่าวนี้ช่วยให้ลืมภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุลงได้บ้าง
ภายในศูนย์ดังกล่าวจะมีกิจกรรมหลักๆที่สอนให้แก่เด็กๆ ได้แก่ สอนปั้น ระบายสี วาดภาพในกลุ่มเด็กเล็กอายุไม่เกิน 10 ปี ส่วนเด็กช่วงอายุระหว่าง 10-16 จะมีกิจกรรมการถักสร้อยข้อมือ หรืองานฝีมืออื่นๆ เพื่อที่จะสามารถนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้เสริมได้ นอกจากนี้ยังมีการสอนภาษาลาวและภาษาอังกฤษพื้นฐานให้กับเด็กเล็กอีกด้วย โดยรูปแบบกิจกรรมต่างๆ นั้นจะทำสลับกันไปในแต่ละวัน
สำหรับเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์นั้นท้าวเวียงสะไหมกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครจากบ้าน SOS ในแขวงต่างๆ เช่น เเขวงเชียงขวาง สะหวันนะเขด เวียงจันทร์ และปากเซ
ท้าวโชคระตี แก้วคำเพียน อายุ 15 ปี หนึ่งในเด็กกว่า 130 ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ กล่าวกับวอยซ์ออนไลน์ว่า ตนเองเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยจากบ้านหกกอง เมืองสะหนามไซ การเข้ามาทำกิจกรรมดังกล่าวนี้ช่วยให้ตนเองนั้นลืมภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุลงได้บ้าง โดยตนเองได้เข้ามาช่วยดูแลเด็กเล็กในการทำกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์แห่งนี้ทุกวันนับตั้งแต่ศูนย์ดังกล่าวได้เข้ามาจัดตั้งเพื่อดูแลเด็ก
ปัจจุบันทางรัฐบาลลาวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้แก่ผู้ประสบภัยกว่า 6 บ้าน จำนวนกว่า 4,000 คน โดยภายในเดือนสิงหาคมนี้คาดว่า จะสามารถโยกย้ายผู้ประสบภัยจำนวน 140 ครอบครัวเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านพักชั่วคราวที่บ้านมิดสัมพัน เมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: