ไม่พบผลการค้นหา
กู้ชีพ เรียกร้องทบทวนประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ย้ำทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ หมดสิทธิลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเรียกหารือต้นเดือนมกราคมปีหน้าหวั่นกระทบการทำงาน

นายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล เลขาธิการมูลนิธิพุทธธรรมฮุก 31 นครราชสีมา เปิดเผยว่าได้ยื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เพื่อขอให้ชะลอการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรื่อง หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พ.ศ.2560

สาระสำคัญที่คัดค้านในร่างประกาศฉบับเดิม คือประเด็นเรื่องการกำหนดให้การลำเลียงหรือรับส่งผู้ป่วยต้องกระทำโดยบุคลากรที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนในระดับ Emergency Medical Responder (EMR) ขึ้นไป ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วบุคลากรส่วนใหญ่ทั่วประเทศกว่า 1 แสนคนยังอยู่ในระดับ First Responder (FR) เท่านั้น ส่วนระดับ EMR แม้แต่ สพฉ.ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด ซึ่งหากประกาศใช้ในตอนนี้จะทำให้บุคลากรระดับ FR นำส่งผู้ป่วยไม่ได้ ซึ่งในร่างประกาศฉบับใหม่ที่ผ่านการเห็นชอบจากบอร์ด สพฉ.นั้น ก็ไม่มีการแก้ไขในประเด็นนี้ เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้คำว่าระดับปฏิบัติการ ซึ่งมีระดับพื้นฐานและระดับสูง

นายปัญญา  เพชรแก้ว นายกสมาคมกู้ชีพ สมาคมกู้ชีพกู้ภัยภูซางการกุศล จ.พะเยา กล่าวว่า ประกาศคณะกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ 2560 กระทบต่อการทำงานของหน่วยกู้ชีพเพราะว่า การกำหนดให้กู้ชีพต้องผ่านหลักสูตรที่เรียกว่า EMRจำนวน 40 ชั่วโมง จะกระทบโดยตรง เนื่องจากกู้ชีพประมาณ 1.4 แสนคนที่ผ่านเพียงหลักสูตร FR เท่านั้น ทำให้กูชีพไม่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้

ดังนั้นในประมาณต้นเดือนมกราคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน จะนัดหารือกับกู้ชีพทั่วประเทศเพื่อหาทางออกต่อมาตรการที่กำลังจะประกาศใช้ที่จะมีผลในปี 61


“เราไม่ได้ต่อต้านประกาศ ต้องการยกระดับแต่อยากให้อบรมจนมีความพร้อมก่อนที่จะมีการบังคับใช้ไม่อย่างนั้นจะไม่มีใครทำงานได้”นายปัญญากล่าว

ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการประสานงานกรณีกู้ชีพฉุกเฉิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยผลการดำเนินการที่ผ่านมาประสบความสำเสร็จเรื่องการสร้างจิตสำนึกในการให้ทางรถพยาบาล และการแก้กฎกระทรวงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ออกตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก เพื่อให้ทางแก้รถพยาบาล

ตั้งแต่เทศกาลปีใหม่เป็นต้นไป ทางคณะกรรมการฯวางหลักการทำงานที่สำคัญคือ มาตรการรับมืออุบัติเหตุ โดยการเตรียมความพร้อมทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ และพื้นที่สาธารณะรองรับรับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น การติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าในสนามบินหลัก 4 แห่ง สถานีรถไฟฟ้า 10 สถานี รวมทั้งสถานีขนส่งมวลชน ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินประกาศให้เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าเป็นเครื่องปฐมพยาบาลตามกฎหมายและมาตรการเชิงรุก คือการร่วมมือกับรัฐบาล มูลนิธิเมาไม่ขับ และสื่อมวลชน รณรงค์เมาไม่ขับ และสร้างวินัยการจราจรเพื่อลดการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเ���ี่ยว

ขณะที่ประกาศคณะกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ 2560 เพื่อยกระดับการปฐมพยาบาล และการกู้ภัย โดยการตรวจสอบ และขึ้นทะเบียนรถกู้ภัย กำหนดมาตรฐานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินต้องได้รับการอบรมเป็นหน่วยปฏิบัติการ ทำให้ปัจจุบันมีอาสาสมัครที่ปฏิบัติการได้ตามประกาศไม่ถึง 10% ทั่วประเทศ ซึ่งมูลนิธิต่างๆ หวั่นว่าอาจจะกระทบต่อการช่วยเหลือผู้ป่วย และผู้ประสบอุบัติเหตุ

นายสุรชัย ชี้แจงว่าที่ผ่านมาเรามองข้ามเรื่องมาตรฐานการกู้ชีพ ปล่อยให้เอกชนเข้ามาทำตามความสมัครใจ ซึ่งไม่ได้มาตรฐาน และทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจในความปลอดภัยจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยผิดวิธี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องออกประกาศที่จะยกระดับการกู้ชีพ โดยรับที่จะนำเรื่องดังกล่าวไปสะท้อนต่อคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เพิ่มการเจ้าหน้าที่อบรมอาสาสมัครทั่วประเทศให้ได้มาตรฐาน ภายในกรอบเวลาที่รวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านของการประกาศใช้กฎหมาย