ไม่พบผลการค้นหา
ประเดิมซีรีส์จับตาการสื่อสารทางการเมืองในศึกเลือกตั้งที่คาดว่าอย่างช้าไม่ควรจะเกินปีหน้า จับตาคนรุ่นใหม่ที่กลายเป็นสินค้าพรีเมียมที่แต่ละพรรคต้องมี

“ธนาธรฟีเวอร์” บีบพรรคเก่า ให้ทำตัวใหม่

หลังการปรากฏตัวของ “ธนาธร-ปิยบุตร-พรรคอนาคตใหม่” ที่มาพร้อมกับความพยายามในการขาย “การเมืองใหม่” โดย “คนรุ่นใหม่” คำคำนี้ ก็เป็นที่ขายดิบขายดีอย่างต่อเนื่อง

สองพรรคใหญ่ต่างเดินหน้านำเสนอแคมเปญขาย “คนรุ่นใหม่” หรือ “นิวบลัด” ของพรรค

ฟากฝั่ง "พรรคเพื่อไทย " ที่ทั้ง "พชร-ลูกพิชัย" "พานทองแท้-ลูกทักษิณ" “น้องเดียร์-หมวดเจี๊ยบต่างพูดถึง "ทีมงานคนรุ่นใหม่ของพรรค" ในสเตตัสล่าสุดของตัวเองทางเฟซบุ๊ค

ที่ชัดกว่านั้นคือในวันเสวนาที่จัดโดย “สุทธิชัย หยุ่น” ในขณะที่ “ธนาธร” ใส่สูท เพื่อเพิ่มความภูมิฐาน สร้างฐานเสียงแฟนคลับกลุ่มใหม่ๆ ก็ได้เห็น “คุณหญิงสุดารัตน์” ลดวัยลงไปมาก ด้วยการใส่ เชิร์ตขาว กางเกงยีนส์  กระทั่ง “อนุทิน” ก็ใส่เสื้อกั๊กมาลดวัย ให้ดูกระฉับกระเฉง งานนี้ต้องบอกว่าเป็น “ธนาธร effect” ทั้งสิ้น

ชวนจับตาดู “นิวบลัด” ของเพื่อไทย อยู่ระหว่างฟอร์มทีม มีทั้งนิวบลัดใต้ปีกเลขา “ภูมิธรรม”-“พชร” ที่เริ่มทำงานด้านนโยบายกันมาสักระยะ ทีมนิวบลัดใต้ปีก “สส.กทม”. ปั้นโดย “สุดารัตน์” และทีมนิวบลัด ใต้ปีก “ลูกชายหัวหน้าพรรคตลอดกาล”   

 “ไอติม” หล่อตามรอย “เริ่มแนะนำตัวเองต่อคนไทย” ชวน “First voter” กาพรรคสีฟ้า

สำหรับพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของไทย อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” ไม่มีนิวบลัดคนใด จะประกาศตัวชัด และโดดเด่นที่สุด เท่ากับ “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” หลานชายแท้ๆ ของอดีตนายก “เดอะมาร์ค” เรียกว่า “หล่อตามรอย” ทั้งประวัติการศึกษาฉบับ จาก “อีตัน สู่ อ๊อกซฟอร์ด”

และเข้าสู่แวดวงทางการเมืองตั้งแต่วัยหนุ่ม ถ้าไอติม ลงเลือกตั้งปีหน้า เขาจะมีอายุ 26 ปี ถือว่าเข้าสู่สนามเลือกตั้งเร็วกว่า อภิสิทธิ์หนึ่งปี

เพราะเดอะมาร์ค ลงเลือกตั้งในนามพรรคเก่าแก่ครั้งแรกในปี พ.ศ.2535 ได้เป็น ส.ส.กรุงเทพมหานครในวัย 27 ปี สร้างสถิติ เป็น ส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดในเวลานั้น และยังเป็น ส.ส.คนเดียวของประชาธิปัตย์ในพื้นที่ กทม. ท่ามกลางกระแส “จำลองฟีเวอร์” ด้วย

แหล่งข่าวบอกว่า มีแนวโน้มอย่างสูงที่ ไอติม จะลงเลือกตั้งเขตใดเขตหนึ่งใน กทม. เรื่องนี้ต้องรอพรรคเคาะ แต่ที่ยืนยันได้แน่ๆ คือ จะไม่ปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค เพราะแบบแผนพรรคนี้ “ใครอยากเป็น ส.ส. ต้องเริ่มจาก 0 เริ่มจากลงเขต เริ่มจากลงพื้นที่จริงจัง แพ้เป็นแพ้ ทั้งหมดเพื่อพิสูจน์ตัวเอง”

จนถึงวันนี้ แฟนเพจของไอติม มีผู้กดติดตามทะลุหลัก 8 พัน ต้นเดือนมกราคม เขารับเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ “เติมมุมคิด” ร่วมกับ “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” ทางช่อง นิวทีวี และอีกไม่นานนักจะมีรายการโทรทัศน์เป็นของตัวเองในชื่อ “เห็นกับตา” ซึ่งแว่วว่า อาจลงที่ช่อง ONE

ทั้งสองรายการนี้เอง เป็นพื้นที่ให้ไอติมได้เริ่มต้นแนะนำตัวเองกับคนไทย เปิดโอกาสให้เขาแสดงความเห็น ต่อปัญหาการเมืองและสังคม แสดงให้เห็นความเหมาะสมที่จะเป็นผู้แทนของคนไทยในการเมืองหลังยุครัฐประหาร

จุดแข็ง “ไอติม” ลงเลือกตั้งถูกเวลา – ประกาศแล้ว “ขอเป็นส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่” เสนอ “3 ต่อยอด จากทีมนิวบลัด เป็น นิวแพลนของพรรค”

ช่วงเวลาที่เขาลงเลือกตั้ง ได้กลายเป็นจุดแข็งที่สำคัญ เพราะ คนไทยเกลียดทั้ง “นักการเมืองเลว” และ “เกลียดทหารโกง”

 ในแง่นี้ นักการเมืองหน้าใหม่ ที่ไม่มีสายสัมพันธ์ และประวัติยุ่งเหยิงในทางการเมืองมากนัก จะมีที่ยืนในการเลือกตั้งรอบนี้ เสียงจะถูกรับฟัง โดยเฉพาะการรับฟังจาก first voter ซึ่งเป็นฐานเสียงกลุ่มเดียวกับที่ “อนาคตใหม่” จ้องดึงเป็นมาฐาน

ไม่นานมานี้ ไอติมขึ้นสังเวียนชกครั้งสำคัญ เขาตบปากรับคำ “สุทธิชัย หยุ่น” ร่วมเวลาเสวนาอนาคตประเทศไทย โดยมีวิทยากรร่วมคือ “อนุทิน ผู้มารบารมีแห่งภูมิใจไทย” “สุดารัตน์ นายหญิงคนใหม่ของเพื่อไทย “ และ “ธนาธร แห่งพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นออริจินของการนำกระแสคนรุ่นใหม่มาสู่การเมืองไทย”

ในงานวันนั้น ไอติมประกาศชัดว่า “ผมมีความมั่นใจขึ้นเยอะมากที่จะเป็นส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่”

คลิปของเวิร์คพ้อยท์ที่ไอติมให้สัมภาษณ์หลังจบเวที มียอดวิวแล้วใกล้ทะลุสามแสนวิว ในคลิปนั้น นักข่าวถามว่า “จะเปลี่ยนแปลงพรรค ปชป. อย่างไร ?” เขาตอบชัดว่า “ไม่ขอเปลี่ยนแปลง แต่ขอ ต่อยอด” (ดูการเล่นศัพท์ เล่นคำสิ ได้ใครมา)

“3 ต่อยอด” จาก “ทีมนิวบลัด” หวังให้เป็น “นิวแพลน” ของพรรคก็คือ หนึ่ง อยากเห็นพรรคหนักแน่นใน “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ไม่หนุน “เผด็จการ” “อำนาจนอกระบบ” สอง อยากเห็นพรรคนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาใช้ในกิจการพรรค สาม “นโยบาย” ที่ชนะใจคน และเชื่อมโยงกับ “นักวิชาการ-นักวิจัย”

ไม่กี่วันให้หลัง หัวหน้ามาร์คขานรับขอเสนอของหลานชาย ประกาศพร้อมต้อนรับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในพรรค ทั้งยังมี “มูฟ” ที่สำคัญ เป็นการ “รับลูก” ต่อจาก “กระแสไอติมกำลังมา”

ปรากฎเป็นภาพ "เดอะมาร์ค" นำทีมแถลงงานข่าว เปิดตัวแอพ ‘D-Connect’ อำนวยความสะดวกประชาชนสำหรับการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะเปิดระบบในวันที่ 1 เมษายนนี้

ก็หวังแต่ว่า พรรคเก่าแก่ จะไม่ได้ก้าวหน้าแค่ “เทคโนโลยี” แต่จะก้าวหน้าใน “จุดยืน” และ “นโยบาย” ไปด้วย ไม่งั้นรอบนี้ต่ำกว่า “100 ที่นั่ง” ไม่ใช่ว่า จะเป็นไปไม่ได้  

จุดอ่อน “ไอติม” จริงอยู่ไม่ตายบนเวที แต่ “เป็นประชาธิปัตย์มากกว่าที่คิด – เป็นนิวบลัดน้อยกว่าที่คิด” – ความท้าทายคือก้าวไม่พ้น “ดีแต่พูด” – “จุดยืนไม่ชัด ตอบคำถาม แบ่งรับแบ่งสู้”

ให้หลังจาก ร่วมเวทีกับ “โอลด์บลัด” ทางการเมืองในเวทีของสุทธิชัย ไอติม ยังเดินสายแนะนำตัวเองต่อ เช่น ออกรายการ The Attitude ช่อง True4U 24 , ให้สัมภาษณ์ ช่องไทยพีบีเอส ผ่านพาดหัว “ว่าที่นักการเมืองรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์” รวมทั้งเดินสายสร้างเครือข่าย กับ เด็กธรรมศาสตร์ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ในบทสัมภาษณ์ไทยพีบีเอสนี่เอง ไอติม ให้สัมภาษณ์ถึง “นักการเมืองโลก” สามคน ที่เป็น “แบบอย่าง” โดยปฏิเสธพูดถึง “นักการเมืองไทย” ที่เป็น “แบบอย่าง”

นักการเมืองสามคนนั้นคือ “แทตเชอร์” “โทนี่ แบลร์” และ “บารัค โอบามา”

ไอติม อาจไม่ได้เอ่ยถึง “นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในฐานะไอดอลทางการเมือง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีหลายอย่างในตัวเขาที่แสดงให้เห็นถึงความ “เป็นอภิสิทธิ์มากกว่าที่คิด” “เป็นประชาธิปัตย์มากกว่าที่คิด” “เป็นนิวบลัดน้อยกว่าที่คิด”

และนี่ก็คือความท้าทายของ “ไอติม” ที่จะพิสูจน์ว่าเขาไปไกลกว่า “การเมืองแบบดีแต่พูด” ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของพรรคเก่าแก่สีฟ้าได้หรือไม่

สำหรับอีกฝากฝั่งหนึ่ง บนเวทีเสวนาวันนั้น ไอติม “ไม่ตายบนเวที” “เขาเอาตัวรอดแบบลอยเส้นเสมอตัวไปหลายระดับ” ในช่วงเสนอ “3 ต่อยอด” เขาทำได้น่าจับใจ แต่มีอย่างน้อยสองช่วงที่เขาตอบคำถาม แบบ “แบ่งรับแบ่งสู้ มีสองช้อยส์” ตรงนี้เองที่ทำให้คนฟัง รู้สึกว่า “ดีแต่พูด”  เช่น

ในขณะที่ “ธนาธร” ย้ำชัดว่า เขาไม่เอา “รัฐประหาร อำนาจนอกระบบ และต้องให้โอกาสประชาธิปไตยได้ทำงาน” – “ไอติม” ตอบคำถามเดียวกัน โดยเสนอว่า เขาก็ไม่หนุน “รัฐประหาร” อยากได้ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” และขอไม่เอาทั้ง “เผด็จการรัฐประหาร และเผด็จการรัฐสภา”

ธนาธร กลับมาดีเบตกับ ไอติมในช่วงท้าย ถึงหัวเรื่อง “เผด็จการรัฐสภา” ว่า “ประชาธิปไตยที่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องการโหวต แต่สิ่งต่างๆเหล่านี้จะต้องปฏิบัติการได้ จะต้องฟังชั่น หนึ่งกระบวนยุติธรรมต้องฟังชั่นได้ สองเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น ต้องมี  สาม ฝ่ายค้าน ต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีสามอย่างนี้แล้ว ต่อให้ต้องยอมรับเผด็จการเสียงข้างมาก ก็ต้องยอมรับ เพราะประชาธิปไตยเป็นทั้งกระบวนการ และเป็นทั้งเป้าหมายในทางเดียวกัน”

อีกยกหนึ่ง คือ ช่วงที่ผู้ฟัง ถามถึง สิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”

ไอติม ตอบคำถามนี้ว่า “ผมยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค.... เพราะฉะนั้นผมตอบไม่ได้ว่า เขาสู้กับระบอบทักษิณ เขาหมายความว่าอะไร แต่คำถามที่ถามว่า เป็นการต่อสู้ระหว่างอำนาจเก่าและระบอบทักษิณ ผมไม่ได้เป็นทั้งสองฝ่าย ผมเลยไม่รู้ว่า จะอยู่ฝ่ายไหน ... ถ้าเกิดว่า คำว่าระบอบทักษิณ หมายถึงเจตนารมณ์ที่จะลดความเหลื่อมล้ำในประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ... ถ้าระบอบทักษิณ หมายถึงแค่นั้น ก็นับผมเป็นหนึ่งในนั้นได้ ผมก็เป็นหนึ่งในระบอบทักษิณเหมือนกัน (เขาโควตคำพูด ที่แสดงให้เห็นถึงระบอบทักษิณ ในฐานะการทุจริต การโกง) ...

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดใช้คำว่า ระบอบทักษิณ หมายถึงการที่ต้องมีการคอรัปชั่นมาเกี่ยวข้องกับนโยบายที่ดี ผมขอไม่เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ผมคิดว่า การที่มีนโยบายที่ดีได้ ไม่จำเป็นต้องมีการทุจริต คอรัปชั่น มาเกี่ยวข้องด้วย”

แปะข้อความเต็มแบบนี้ เพื่อไม่ให้มิสลีด คนอ่านจะเห็นได้เอง ถึงความเป็น “โอลด์บลัด” โดยเฉพาะผ่านวิธีการตอบคำถาม การเล่นคำ การเล่นศัพท์ และการแบ่งรับแบ่งสู้ตามแบบแผนของ ระบอบอภิสิทธิ์ ที่พร้อมจะ “เปลี่ยนจุดยืนเพื่อให้ตัวเองมีที่ยืน”

และนี่ก็คือ จุดอ่อน และบทพิสูจน์ของไอติม ที่จะต้องแสดงให้เห็นว่า “ทำอย่างไร ที่นิวบลัด ผ่านเข้าไปในสถาบันทางการเมืองที่แข็งแรงแบบพรรคประชาธิปัตย์แล้ว จะไม่ออกมาเป็นโอลด์บลัดเหมือนกันหมด พิมพ์เดียวกันหมด วิธีการสื่อสารแบบเดียวกันหมด”

อย่าให้คนฟังไอติม แล้วรู้สึกว่า “นี่คือ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าอายุน้อยไม่ได้แปลว่าจะเป็น New Blood” ซึ่งจะเป็นจุดต่างที่สำคัญระหว่าง “ไอติม” กับ “ธนาธร+อนาคตใหม่”

ชวนตามดู “มูฟของไอติม” ต่อไป ไม่ใช่แค่ในฐานะ ผู้ลงเลือกตั้งใน ส.ส.เขต ในอนาคตอันใกล้ แต่ในฐานะผู้ถือธงนำในทีมนิวบลัดของพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ


วยาส
24Article
0Video
63Blog