ไม่พบผลการค้นหา
สบน. ชี้แจงสาระสำคัญ ม.53 ร่างพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ไม่ได้เพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารออกกฎหมายพิเศษ เพียงกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลังให้รัดกุม

จากกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .... ในมาตรา 53 ว่าเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่มีหลักเกณฑ์และกรอบเพดานในการกู้เงิน ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลนำเงินกู้ดังกล่าวมาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร ส่งผลให้เกิดภาระสาธารณะที่ประชาชนต้องแบกรับนั้น

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .... เป็นกฎหมายที่จะตราขึ้น ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ การกำหนดวินัยทางการคลังด้านรายได้ และรายจ่ายทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินของรัฐและเงินคงคลัง และการบริหารหนี้สาธารณะ

2. โดยหลักการแล้ว อำนาจในการตรากฎหมายพิเศษเพื่อการกู้เงิน รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ โดยที่ผ่านมาในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน เพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลได้ตรากฎหมายพิเศษในรูปแบบพระราชกำหนดเพื่อกู้เงินมาใช้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤติต่างๆของประเทศ เช่น วิกฤติการเงินในช่วงปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2552 และปัญหาอุทกภัยในช่วงปี 2555 เป็นต้น 

3. หลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 53 มิใช่เป็นการเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารในการออกกฎหมายพิเศษ แต่เป็นการกำหนดกรอบวินัย เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจในการออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินโดยปราศจากความรอบคอบรัดกุม และเพื่อควบคุมการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารให้มีความเข้มงวดและมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการคลัง  

4. ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 53 ได้กำหนดกรอบและเงื่อนไขในการออกกฎหมายเพื่อการกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน โดยกฎหมายเพื่อกู้เงินดังกล่าว ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลา ในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น (จากเดิมที่ พรก. กู้เงิน จะระบุให้เสนอกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ต่อรัฐสภาเพื่อทราบเท่านั้น) 

การกำหนดเงื่อนไขตามร่างดังกล่าวจะทำให้การกู้เงินตามกฎหมายพิเศษเป็นช่องทางสุดท้ายเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่สามารถดำเนินการภายใต้กระบวนการงบประมาณได้แล้วเท่านั้น นอกจากนี้ การกำหนดให้ต้องมีการแสดงรายละเอียดแผนการใช้จ่ายเงินกู้ให้ชัดเจนยังทำให้รัฐสภาสามารถกลั่นกรองและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ได้ในลักษณะเดียวกับการพิจารณางบประมาณรายจ่ายด้วย

ทั้งนี้ จากข้อกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวทั้งหมด ส่งผลให้การออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินสำหรับจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารในภาวะปกติทั่วไปไม่สามารถดำเนินการได้ โดยจะต้องดำเนินการผ่านกระบวนการขอตั้งงบประมาณตามขั้นตอนปกติเท่านั้น

5. หลักการของร่างกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ในส่วนของการบริหารหนี้สาธารณะ นอกจากจะมีการกำหนดกรอบวินัยการกู้เงินภายใต้กฎหมายพิเศษตามร่างมาตรา 53 แล้ว ยังมีการกำหนดกรอบวินัยในการกู้เงินของรัฐบาลในวัตถุประสงค์อื่นๆ ได้แก่ กรอบวินัยในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ กรอบวินัยในการกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กรอบวินัยในการใช้จ่ายเงินกู้ การติดตามประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ ตลอดจนการจัดทำแผนการกู้เงินและการรายงานสถานะหนี้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .... ได้ผ่านการพิจารณารับหลักการจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบได้ภายในเดือนธันวาคม 2560