ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่สั่งห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศ รวมถึงขยะจากฮ่องกง กระทบคนเก็บขยะในฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ไม่ได้รับสวัสดิการคุ้มครองจากรัฐ เป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตของผู้มีรายได้น้อยทั่วโลก รวมถึงไทย

อู่เฟิงหลัน หญิงฮ่องกงวัย 67 ปี หาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บกล่องกระดาษไปขายให้แก่โรงงานรีไซเคิลมานานหลายปี หลังจากเธอและสามีถูกปลดจากตำแหน่งในโรงงานตั้งแต่อายุไม่ถึงวัยเกษียณ โดยเธอและสามีเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเก็บขยะกว่า 2,900 คนในฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีโอกาสหางานอื่นใดทำได้ 

แม้คนในสังคมฮ่องกงจำนวนมากมองว่าอาชีพเก็บขยะเป็นงานที่ต้อยต่ำ แต่อู่เฟิงหลันยืนยันว่า เธอยินดีที่จะทำงานนี้ เพราะเป็นอิสระ และได้เป็นนายตัวเอง โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เธอจะเข็นรถเก็บขยะไปยังย่านชุมชนต่างๆ เพื่อเก็บรวบรวมกล่องกระดาษและขยะกระดาษอื่นๆ ให้ได้กว่าวันละ 300 กิโลกรัม เพื่อนำไปขายให้แก่แหล่งรับซื้อขยะในราคากิโลกรัมละ 1 ดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งรายได้แต่ละวันนี้จะช่วยให้เธอและสามีวัย 77 ปีดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือค่าเลี้ยงดูจากลูกๆ 3 คนที่เติบโตและเพิ่งเริ่มมีงานทำ


"เคยมีคนดูถูกพวกเรา เขาบอกว่า แก่แล้ว ทำไมไม่กลับบ้านไป มาเก็บขยะทำไม ฉันก็เถียงว่าจะให้กลับบ้านไปนั่งจ้องกำแพง พึ่งเงินจากรัฐอย่างเดียวหรือไง"


อู่หลันเฟิงถูกเรียกว่า 'คุณยายเก็บขยะ' หลังจากที่เธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเธอย้ำว่า การเก็บขยะขายทำให้เธอเคยถูกรถชนบาดเจ็บและนิ้วมือคด เพราะต้องเข็นรถหนักนับร้อยกิโลกรัมเดินเป็นระยะทางไกล ผ่านย่านชุมชนและถนนที่รถยนต์คับคั่ง แต่เธอยังยินดีที่จะทำงานนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นงานอิสระ และไม่ต้องพึ่งพาใคร

AFP-มือคนแก่-สูงอายุ-นิ้วคด

จีนห้ามนำเข้าขยะ-กระทบหลายกลุ่ม

องค์กรช่วยเหลือผู้เก็บขยะฮ่องกง (WPP) เปิดเผยว่า คนเก็บขยะในฮ่องกงปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2,900 คน โดยร้อยละ 80 เป็นผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และทั้งหมดเป็นผู้มีฐานะยากจน แต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลฮ่องกง เช่นกรณีของอู่หลันเฟิงและสามี ซึ่งมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งและมีรายได้ค่อนข้างจะแน่นอนในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม มาตรการห้ามนำเข้าขยะของรัฐบาลจีนที่เพิ่งประกาศเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนเก็บขยะในฮ่องกงอย่างไม่มีทางเลี่ยง เนื่องจากขยะกระดาษร้อยละ 95 ในฮ่องกงจะต้องส่งไปรีไซเคิลที่โรงงานในจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่มาตรการห้ามนำเข้าขยะของจีนครอบคลุมถึงขยะจากต่างประเทศและฮ่องกงซึ่งเป็นเขตบริหารพิเศษ 

แจ็กกี เหลา ผู้อำนวยการสมาพันธ์อุตสาหกรรมขยะและรีไซเคิลแห่งฮ่องกง ระบุว่ามาตรการห้ามนำเข้าขยะของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาชีพของผู้เก็บขยะ เช่นเดียวกับที่จะทำให้เกิดวิกฤตขยะกระดาษในฮ่องกง เพราะปริมาณขยะกระดาษที่ผลิตในแต่ละวันนั้นมีปริมาณมากมายจนไม่สามารถนำไปกำจัดด้วยการกลบฝัง และฮ่องกงไม่มีพื้นที่เพียงพอ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ฮ่องกงต้องส่งขยะกระดาษไปยังโรงงานรีไซเคิลที่จีนแผ่นดินใหญ่

ผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลในฮ่องกงสะท้อนความคิดเห็นว่า คณะผู้บริหารสูงสุดฯ จะต้องผลักดันให้มีโรงงานขยะรีไซเคิลในฮ่องกงให้ได้ หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องเจรจาต่อรองให้รัฐบาลกลางอนุญาตหรือผ่อนผันให้นำเข้าขยะจากฮ่องกงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เป็นกรณีพิเศษ ในฐานะที่ฮ่องกงถือเป็นหนึ่งในเขตบริหารพิเศษของจีน

AFP-เก็บขยะ-คนแก่-เมืองใหญ่-ความเหลื่อมล้ำ-รีไซเคิลขยะ

ชีวิต 'คนเก็บขยะ' คล้ายคลึงกันในหลายประเทศ

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.พ. 2561 นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ขยะของประเทศไทย อ้างอิงผลสำรวจตั้งแต่ปี 2559 ระบุว่า ขยะมูลฝอยชุมชนในประเทศไทยโดยเฉลี่ยคิดเป็นจำนวนประมาณ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรคาดว่าเราสร้างขยะรวมกันประมาณ 27.04 ล้านตันทั่วประเทศ โดย 5 จังหวัดที่มีปริมาณขยะมูลฝอยมากเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ สงขลา และสุราษฎร์ธานี

อาชีพ 'คนเก็บขยะ' และพนักงานคัดแยกขยะของหน่วยงานรัฐ จึงเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยดำเนินการกำจัดและรีไซเคิลขยะในประเทศไทย แต่ผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำในสังคม และต้องประสบกับความเสี่ยงจากภาวะแวดล้อมในการทำงาน

ด้วยเหตุนี้ ดร.นพ. ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เสนอว่ารัฐต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาและดูแลสุขภาพกลุ่มคนเก็บขยะในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการทำงานมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสกับโลหะหนักหรือสารเคมีอันตราย รวมถึงเชื้อโรคต่างๆ

รัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องร่วมกันรณรงค์ผลักดันให้สังคมไทยมีความกระตือรือร้นและมีความรับผิดชอบในการคัดแยกขยะเพิ่มขึ้น รวมถึงจะต้องลด ละ เลิก การใช้วัตถุหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่จะกลายเป็นขยะล้นเกิน รวมถึงขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ย่อยสลายและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าหรือแยกขยะรีไซเคิลจะได้ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการคัดแยกขยะแต่เพียงลำพัง

ที่มา: AFP/ BBC/ Hong Kong FP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: