สำนักข่าว CNBC รายงานว่า บริษัท Roche ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์รายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ได้รับอนุญาตการใช้งานฉุกเฉินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ หรือ FDA ในการจำหน่ายอุปกรณ์ตรวจหาแอนติบอดีของโรคโควิด-19 (COVID-19 Anitibody Test)
อุปกรณ์ตัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสมาแล้วหรือไม่ และร่างกายของผู้ป่วยมีการสร้างแอนติบอดีต่อต้านเชื้อแล้วหรือยัง โดยภายหลังการอนุญาตดังกล่าว ทางบริษัทจะเริ่มกระจายอุปกรณ์ตรวจภายในเดือนนี้จำนวนหลักสิบล้านชิ้น โดย CEO ของบริษัทยืนยันกับทาง CNBC ว่าอุปกรณ์ชนิดนี้สามารถใช้งานได้ง่ายกว่าอุปกรณ์ตรวจแบบ 'Molecular Test'
ภายหลังการพัฒนา ศึกษา และทดลองหลายสัปดาห์ของบริษัทกิลเลียต (Gilead) ยาต้านไวรัสเชิงทดลอง 'เรมเดสซิเวียร์' (Remdesivir) ผ่านการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ หรือ FDA ภายใต้อำนาจการอนุมัติฉุกเฉิน ซึ่งจะทำให้ยาตัวนี้สามารถนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นในสหรัฐฯ แม้ว่าที่ผ่านมาผลการทดสอบจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ทาง FDA ยืนยันว่าการศึกษาและพัฒนาประสิทธิภาพยาตัวนี้จะต้องดำเนินต่อไป
มีการประกาศรายชื่อผู้ผลิตวัคซีนอย่างเป็นทางการออกมาหลายรายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทุกฝ่ายย้ำว่า ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ประเด็นของการค้นพบวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังต้องพุ่งประเด็นไปที่ความสามารถในการกระจายวัคซีนไปยังประชากรทั้งโลกเกือบ 8,000 ล้านคนด้วย โดย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า เขามั่นใจว่าการพัฒนาวัคซีนจะต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม เซเวอร์ริน ชวอน CEO ของบริษัทผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ Roche ได้แสดงความกังขาถึงความมั่นใจในกรอบเวลานั้นของผู้นำสหรัฐฯ โดยชี้ว่าการที่ทรัมป์ยืนยันว่าภายในสิ้นปีโลกจะได้เห็นวัคซีนโควิด-19 นั้น 'ช่างเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานอย่างมาก'
ชวอนกล่าวระหว่างสัมภาษณ์กับ CNBC ต่อด้วยว่า เขาไม่ได้มีความกังวลในเรื่องของการเร่งกระบวนการอนุมัติวัคซีน เพราะขณะนี้มีหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการที่ทำงานพัฒนาวัคซีนร่วมกันแบบคู่ขนาน อีกทั้งยังมีการร่วมมือกับหน่วยงานทางสาธารณสุขอย่าง FDA อีกด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่าโดยปกติแล้วการพัฒนายาขนานใหม่นั้นต้องใช้เวลายาวนานหลายปี นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 12-18 เดือน จนกว่าจะสามารถส่งถึงมือผู้ป่วยได้ในปริมาณที่เพียงพอ
ขณะที่เดียวกัน ทีมวิจัยตลาดทุนด้านชีวเภสัชภัณฑ์ของ Bank of America ก็ยืนยันเช่นกันว่ายังต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังอีกมากในเรื่องของขั้นตอนการผลิตวัคซีน ด้านบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Moderna ได้ประกาศข้อตกลงความร่วมมือการผลิตวัคซีนร่วมกับบริษัทเคมีภัณฑ์ Lonza เป็นระยะเวลานาน 10 ปีเต็ม ซึ่งคาดว่าจะมีศักยภาพในการผลิตได้มากถึง 1,000 ล้านโดสต่อปี
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัทผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ AstraZeneca ของอังกฤษได้ประกาศความร่วมมือระดับโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยจะร่วมกันพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนเมื่อกระบวนการต่างๆ สำเร็จ กรอบเวลาเบื้องต้นที่วางแผนกันไว้คือจะต้องผลิตให้ได้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ และมีความเป็นไปได้ว่าวัคซีนล็อตแรกจะพร้อมแจกจ่ายในเดือน ก.ย.ซึ่ง CEO ของบริษัท AstraZeneca ระบุในแถลงการณ์ว่า "ความร่วมมือครั้งนี้ คือการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัคซีนระดับโลกของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบุคลากรของ AstraZeneca ผู้ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนา ผลิต และกระจายวัคซีนระดับโลกเช่นกัน"
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยตลาดทุนด้านสุขภาพของ UBS ชี้ว่า แม้ทางทีมจะให้ความเคารพยกย่องนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเป็นอย่างมาก แต่ทางทีมของ UBS ไม่คิดว่าการผลิตวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้นั้นจะเป็นไปได้ เพราะเมื่อดูจากข้อมูลสำคัญที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการติดตามผลซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดนั้น กรอบเวลาที่ตั้งไว้อาจเร็วเกินไป และแม้ว่าจะสามารถผลิตได้ภายในสิ้นปีนี้จริง ความท้าทายในการส่งมอบวัคซีนให้คนทั้งโลกคืออีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องเร่งหาวิธีเอาชนะ เพราะประชากรโลกมีมากเกือบ 8,000 ล้านคน
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างสถาบันเซรั่มแห่งอินเดีย ได้ประกาศว่าทางสถาบันวางแผนที่จะผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้ได้มากถึง 60 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้